นักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ว่า ผลการทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (stress test) ของ 19 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐจะเปิดเผยในวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.นี้ จะมีผลสรุปออกมาว่า ธนาคารแต่ละแห่งจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเนื่องจากเกิดปัญหาเงินทุนไม่พอเพียง
กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังดำเนินการตรวจสอบ stress test ของ 19 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ภายในประเทศ เพื่อประเมินว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ โดยสถาบันการเงินเหล่านี้รวมถึง ซิตี้กรุ๊ป, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส, แบงค์ ออฟ อเมริกา, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, มอร์แกน สแตนลีย์ และธนาคารเวลล์ส ฟาร์โก ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดเผยผลการตรวจสอบ stress test ในวันที่ 4 พ.ค.นี้
การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ครั้งนี้สวนทางกับที่นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรสว่า ธนาคารส่วนใหญ่มีทุนสำรองเพียงพอที่จะปกป้องการขาดทุนได้
บิล บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยดุ๊คและอดีตกรรมการผู้จัดการมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา พยายามกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าสถาบันการเงินทั้ง 19 แห่งอยู่ในระหว่างการทบทวนสถานะด้านเงินทุน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าผลการทดสอบ stress test จะทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารในสหรัฐอาจต้องระดมเงินทุนเพิ่ม
"ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ธนาคารส่วนใหญ่พยายามปกปิดสถานะการเงินตนเอง แต่ผลการทดสอบ stress test จะเปิดเผยทุกอย่างให้กระจ่าย" บราวน์กล่าว
ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรสว่า ธนาคารส่วนใหญ่มีทุนสำรองเพียงพอที่จะปกป้องการขาดทุนได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเพื่อให้มีคุณสมบัติตามแผนทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (stress test) และรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางออกในเรื่องการระดมทุนให้กับธนาคารด้วย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไกธ์เนอร์กล่าวว่า "ธนาคารส่วนใหญ่สามารถจ่ายเงินต้นคืนให้กับรัฐบาลได้ หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถระดมทุนจากนักลงทุนเอกชนหรือวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ด้วยการออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ์ ซึ่งอาจทำได้ทั้งสองทางเพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของแต่ละธนาคาร และจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ธนาคารส่วนใหญ่มีเงินทุนมากพอที่จะรับมือกับภาวะขาดทุน แต่ธนาคารจะต้องดำเนินกิจการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน