(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าลด GDP ปี 52 เหลือ -4.3% จากผลพวงปัญหา ศก.-การเมืองระอุ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 23, 2009 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปี 52 ลงเหลือระดับ -5.3 ถึง -3.5% โดยระดับที่คาดว่าจะเป็นไปได้มากสุดอยู่ที่ -4.3% จากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ว่า GDP ปีนี้จะอยู่ในระดับ -2.8 ถึง 0.8% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวเป็นผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับกรณีที่คาดว่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ GDP อยู่ที่ระดับ -4.3% นั้นมาจากสมมติฐานที่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะคลี่คลายลงได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ 142,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินจากท่องเที่ยวหายไป 112,000 ล้านบาท การบริโภคต่อ GDP หายไป 27,000 ล้านบาท การลงทุนหายไป 24,000 ล้านบาท การนำเข้าลดลง 21,000 ล้านบาท และว่างงาน 1.3-1.6 ล้านคน

นายธนวรรธน์ ยังปรับลดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ลงเหลือ -15% ถึง -20% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ -10% ถึง -15% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1.3% ถึง -0.8% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ -1.0% ถึง -0.5%

"สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งเยียวยา คือภาคการท่องเที่ยว เพราะได้รับผลกระทบมากสุด โดยต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเร็วที่สุด และร้องขอให้ต่างประเทศลดระดับการเตือนภัยมายังไทย เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้น และรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ทันตามกำหนดภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจติดลบน้อยสุด แต่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพ" นายธนวรรธน์ กล่าว

ขณะที่นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจ 806 ราย เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจไทยหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ พบว่าส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 3-4% และในปี 53 จะฟื้นตัวดีขึ้นโดยขยายตัว 1-2%

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความไม่สงบและมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ผู้ประกอบการ 43.3% ระบุว่าได้รับผลกระทบทางธุรกิจ โดยภาคบริการได้รับผลกระทบมากสุด รองลงมาเป็น ภาคการผลิต ภาคการเกษตร และภาคการค้า ซึ่งทำให้ยอดขายและสภาพคล่องลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการจ้างงานลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้เมื่อถามความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ โดยมีคะแนนเต็ม 10 พบว่า ส่วนใหญ่ให้คะแนนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 6.3 คะแนน การแก้ไขปัญหาด้านสังคม 6.7 คะแนน การแก้ไขปัญหาด้านการเมือง 6.1 คะแนน และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น 6.5 คะแนน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ