นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 28 ก.พ.52 มีจำนวน 3,598,395 ล้านบาท หรือ 39.93% ของ GDP แยกเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,286,942 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,014,820 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 182,430 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 110,520 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 3,683 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนก่อน พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 73,777 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น 78,445 ล้านบาท และ 12,698 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 14,366 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สาเหตุการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 78,445 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 88,000 ล้านบาท โดยเป็นการใช้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 39,000 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรรัฐบาล และออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,030 ล้านบาท และ 13,500 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้รัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 9,999.20 ล้านบาท และนำเงินที่ได้จากการประมูลไปชำระคืนเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังที่ใช้เป็น Bridge Financing ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 วงเงินรวม 49,999.20 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการกู้เงินระยะสั้นสมทบกับเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF1 และ FIDF3) มาทดรองจ่ายไปก่อน จากนั้นจึงดำเนินการทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค.51-ก.พ.52 เพื่อทยอยชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้น
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 12,698 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 8,000 ล้านบาท และออกพันธบัตรวงเงิน 5,000 ล้านบาท
หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลง 14,366 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง 10,522 ล้านบาท