ภาคเอกชนยันเนื้อหมูในประเทศปลอดภัย แนะรัฐสั่งห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2009 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ยันเนื้อสุกรที่ผลิตในประเทศไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโก เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย(Food Safety) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้มีคำสั่งห้ามนำเข้าเครื่องในและชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งพ่อแม่พันธุ์สุกรจากต่างประเทศ

"เนื้อสุกรของไทยไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค เนื่องจากการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาการเลี้ยงขึ้นมามาก เพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัย(Food Safety) ตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรในประเทศยกระดับมาตรฐานขึ้น ศักยภาพค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น" นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุในเอกสารเผยแพร่

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เนื้อสุกรที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคและนักวิชาการต่างออกมายืนยันแล้วว่าการรับประทานเนื้อสุกรปรุงสุกไม่มีปัญหา แต่เพื่อความไม่ประมาททางผู้เลี้ยงสุกรควรจะระมัดระวังการเข้าออกฟาร์ม อย่างเต็มที่ ไม่ให้เชื้อโรคติดเข้าไปในฟาร์มได้ และอย่าเลี้ยงสุกรหนาแน่นเกินไปเพราะจะทำให้สุกรป่วยเป็นโรคได้ง่าย

"อยากให้รัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าเครื่องในและชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งพ่อแม่พันธุ์สุกรจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการนำเข้าไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยให้นำเข้ามาแล้วมีปัญหาภายหลัง จะทำให้การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยได้รับผลกระทบและยากที่จะแก้ไขได้ หากยุติการนำเข้าแล้วมีปัญหาตามมาค่อยหาทางแก้ปัญหาไปทีละเรื่องจะปลอดภัยกว่า และเมื่อเหตุการณ์การระบาดของโรคสงบลงจะพิจารณายกเลิกยุติการนำเข้าภายหลังก็ได้"นายสุรชัย กล่าว

สำหรับภาวะราคาเนื้อสุกรขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการระบาดข้างต้น แต่เป็นเรื่องปกติของสินค้าปศุสัตว์ที่ในช่วงหน้าร้อนสุกรจะกินอาหารน้อย โตช้า และมีความเสียหายสูงจากสภาพอากาศ ซึ่งสามารถดูสถิติย้อนหลังได้เพราะสภาวะการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นทุกปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ