(เพิ่มเติม) นายกฯ คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/52 ติดลบกว่า 5% เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวแย่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2009 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/52 จะอยู่ในระดับติดลบกว่า 5% เนื่องจากการส่งออกและด้านการท่องเที่ยวหดตัวลดลงอย่างรุนแรง

"ผมคาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้ตัวเลขน่าจะติดลบร้อยละ 5 ขึ้นไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในตอนหนึ่งของการบรรยายให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในหัวข้อ "แนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม"

ทั้งนี้ ยอดส่งออกในไตรมาสที่ 1/52 โดยเฉลี่ยขยายตัวติดลบ 24-25% แม้ในช่วงเดือน ก.พ.52 อัตราการขยายตัวจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง เนื่องจากมีการส่งออกทองคำเป็นจำนวนมาก ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวลดลงราว 20%

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเป็นต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพิจารณาหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 53-55 มูลค่า 1.56 ล้านล้านบาทนั้น เชื่อว่ายังมีแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศเพียงพอ เนื่องจากมีสภาพคล่องอยู่มากกว่า 8 แสนล้านบาท

"การกู้เงินคงเป็นการกู้ในประเทศ เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีเงินเยอะแต่ไม่ปล่อยออกมา เพราะสถาบันการเงินยังกลัวเรื่องความเสี่ยง เงินตรงนี้มีถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลคิดว่าทำได้และเหมาะสม" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท เชื่อว่าแทบจะไม่มีโครงการใหม่ ๆ เลย เป็นข้อจำกัดของงบประมาณ ประกอบกับการประเมินตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 52 ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้น กว่าที่ประเทศไทยจะพ้นวิกฤติไปได้คาดว่ายอดหนี้สาธารณะอาจจะพุ่งไปกว่า 60% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 ที่มียอดหนี้สาธารณะถึง 65% ของจีดีพี

แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากนี้ไป รัฐบาลคงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการวางแผนเศรษฐกิจในอนาคต โดยชี้ถึงจุดแข็งในประเทศที่ภาคเกษตรกรรม รัฐบาลจะผลักดันการนำพืชผลทางการแกษตรมาใช้ผลิตอาหารและผลิตเป็นพลังงานทดแทนควบคู่กันไป ซึ่งจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนเศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัญหาทั้งหมดนี้คงไม่สามารถแก้ไขได้หากยังมีปัญหาทางการเมืองอยู่ ดังนั้น ในช่วง 6-8 เดือนข้างหน้านี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาด้านการเมือง เพราะขณะนี้ยังมีความคิดของบางฝ่ายที่พร้อมจะต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีการที่รุนแรง รวมทั้งต้องรอความชัดเจนจากกระบวนการด้านนิติบัญญัติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด

"6-7-8 เดือนข้างหน้านี้ ยังมีความจำเป็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะยังมีคนบางฝ่ายพร้อมต่อสู้ด้วยความรุนแรง รวมถึงความไม่ชัดเจนในกระบวนการนิติบัญญัติว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้เร็วแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ด้วย เพราะหากประเทศเหล่านี้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้นเท่าใดก็จะส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ