"กรณ์"ประชุมคลังอาเซียน+3 ที่บาหลีหาข้อสรุปตั้งกองทุนการเงินอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2009 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เตรียมเดินทางเข้าร่วมประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 วันที่ 2-3 พ.ค.และเข้าร่วมประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 42 วันที่ 4-5 พ.ค.52 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

รมว.คลังของไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานร่วม(Co-Chair)กับรมว.คลังและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในการประชุมรมว.คลังอาเซียน+3 เพื่อติดตามความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่ระดับพหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation:CMIM) ซึ่งมีกรอบวงเงินรวม 120,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ สัดส่วนการลงเงินของประเทศสมาชิก+3 แนวทางกลไกและกำหนดวิธีการการใช้เงินกองทุนในอนาคตต่อไป คาดว่าจะมีการสรุปและประกาศการจัดตั้ง CMIM ได้อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ รมว.คลัง จะร่วมสัมมนาพิเศษกับนักลงทุนเพื่อเผยแพร่ศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและของไทยในการรองรับการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดจนการวางมาตรการเพื่อรองรับกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงการชี้แจงถึงปัญหาต่าง ๆ ภายในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

หลังจากนั้น จะได้เข้าร่วมการจัดงาน ASEAN Investment Day(AID)ที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้เป็นเวทีในการประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการลงทุน ตลอดจนเผยแพร่ศักยภาพของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดควบคู่ไปกับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากมาจากหลายสาขา เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาการเงิน การธนาคาร มากกว่า 80 ประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย รมว.คลังจะเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ว่าการของไทยใน ADB มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบการเพิ่มทุนสามัญของ ADB ครั้งที่ 5 ในระดับที่ไม่เกิน 200% ของทุนปัจจุบัน โดยการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้ ADB มีเงินทุนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 56,000 ล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 165,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ ADB สามารถปล่อยกู้ให้กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มขึ้น

ไทยได้เห็นชอบในการเพิ่มทุนของ ADB ซึ่งจะมีผลผูกพันให้ไทยจะต้องชำระค่าเพิ่มทุนทั้งสิ้นประมาณ 46.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,674 ล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ ไทยจะยืนยันการขอกู้เงินจาก ADB จำนวน 500 ล้านดอลลลาร์ เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังมาเลเชีย องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ADB, IFC, JICA, JBIC และสถาบันการเงินต่างประเทศชั้นนำ เช่น UBS Securities, Daiwa Securities, Credit Suisse


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ