นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การเดินทางไปเชิญชวนให้นักธุรกิจออสเตรเลียเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่ผ่านมาได้รับผลดีเกินคาด โดยมีการจัดสัมมนา 3 แห่ง ทั้งในนครซิดนีย์, เมลเบิร์น และเมืองบริสเบน ซึ่งมีนักธุรกิจชั้นนำเข้าร่วมงานกว่า 300 คน
"นักธุรกิจออสเตรเลียแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจและหาผู้ร่วมทุนในประเทศไทย แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ผลจากการทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 48 ได้ช่วยขยายโอกาสและสนับสนุนค้าการลงทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลียอย่างมาก" นายชาญชัย กล่าว
โดยการสัมมนาที่นครซิดนีย์มีนักธุรกิจมาร่วมงานกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการชักชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ไอซีที ตลอดจนภาคบริการ อาทิ การเงิน การศึกษา
ส่วนที่นครเมลเบอร์นมีนักลงทุนมาร่วมงานทั้งหมด 80 ราย โดยกว่าครึ่งได้แสดงความสนใจจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานทดแทน เครื่องจักร การผลิตอุปกรณ์ขนส่ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล กิจการบำบัดน้ำเสียและการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีกิจการมีน่าสนใจเป็นอย่างมากคือ การผลิตอุปกรณ์สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ได้ทั้งบนถนนและบนราง ซึ่งผู้ผลิตของออสเตรเลีย มีความสนใจจะหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยมารับช่วงการผลิต
และที่เมืองบริสเบนมีนักธุรกิจชั้นนำและบริษัทรายใหญ่ของรัฐควีนส์แลนด์มาร่วมงานประมาณ 45 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เคยเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยและมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการพบปะหารือกับนายไมเคิล ชอย รมช.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการค้า ของรัฐควีนส์แลนด์ และนักธุรกิจชั้นนำของควีนส์แลนด์ ทำให้ทราบว่ามีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และรัฐบาลควีนส์แลนด์ต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านที่ควีนส์แลนด์มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบราง และการต่อเรือ
"กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชวนให้รัฐบาลและนักธุรกิจควีนส์แลนด์เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งก็ได้ตอบรับที่จะมาประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้" นายชาญชัย กล่าว
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนออสเตรเลียให้ความสนใจต่อมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กท์ต่างๆ และมีความสนใจต่อมาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุน ภายใต้นโยบายปีแห่งการลงทุนของบีโอไอ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออสเตรเลียมีความสนใจ ได้แก่ เมกะโปรเจ็กท์ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และกิจการชิ้นส่วนยานยนต์
ด้านนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการพบปะพูดคุยกับนักลงทุนออสเตรเลีย และนายมาร์ติน พาคูล่า รมว.อุตสาหกรรมและการค้า ของรัฐวิกตอเรีย ทำให้ทราบว่า นักลงทุนออสเตรเลียไม่กังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในประเทศของไทย และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่บีโอไอต้องทำในตอนนี้ คือ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นแหล่งน่าลงทุนของประเทศไทย และเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะเข้ามาลงทุน เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนจากต่างประเทศที่เราได้ใกล้ชิดเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประเทศไทย จะได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย
ทั้งนี้ บีโอไอกำลังจะเปิดสำนักงานในต่างประเทศเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ สำนักงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน, สำนักงานในเมืองกวางโจว ประเทศจีน ในเดือนสิงหาคม และสำนักงานในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในเดือนกันยายน