พาณิชย์ ระบุสหรัฐคงสถานะไทยชั้น PWL ต่ออีกปี เตรียมแก้กม.ลิขสิทธิ์

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 2, 2009 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯคงสถานะไทยให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในการประกาศผลทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2552 โดยให้เห็นผลว่า การคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังคงสร้างความห่วงกังวลให้กับสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯจะตระหนักถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐบาลชุดนี้เพิ่งกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ สหรัฐฯจึงมีเวลาสั้นเกินไปที่จะประเมินไทยในอันดับที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังหวังว่าไทยจะสานต่อการทำงานนี้ต่อไป เพื่อให้การละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมบันเทิง ซอฟต์แวร์ สัญญาณเคเบิล และหนังสือลดน้อยลง รวมถึงมีการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตร และขอให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิบัตรยา อย่างไรก็ตาม หวังว่าไทยจะแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในเชิงที่ส่งเสริมการลงทุน พัฒนา วิจัย และเสถียรภาพของระบบสิทธิบัตร

"ผลการจัดอันดับเป็นไปตามคาด เพราะสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลปี 2551 เป็นหลักในการประเมิน และไม่ได้นำคำชี้แจงผลการปราบปรามของไทยในเดือนม.ค.-เม.ย.52 มาพิจารณา ทั้งๆ ที่ไทยได้ส่งข้อมูลไปให้ และโต้แย้งข้อกล่าวหาของเอกชนไปที่สหรัฐฯ หลายครั้ง และผมยังเดินทางไปเองช่วงเดือนมี.ค. หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ภาคเอกชน และรัฐสภาของสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงนโยบายการทำงานของรัฐบาลไทย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าช่วง 3 เดือนแรก ไทยจับกุมผู้ละเมิดได้สูงถึง 1,345 คดี ของกลาง 1.126 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 50%" นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ไม่ว่าไทยจะถูกประเมินผลอย่างไร แต่รัฐบาลจะคงเดินหน้าสร้างศักยภาพทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้บังคับได้ดีขึ้น โดยจะกำหนดให้ผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษทางแพ่ง คือ ปรับ ส่วนเจ้าของสถานที่ที่ให้เช่าจำหน่ายสินค้าละเมิด ทั้งห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลาดนัด จะมีความผิดทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดบทลงโทษ และจะประชาพิจารณ์ในเดือนพ.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และเสนอรัฐสภาพิจารณาต่อไป

ส่วนผลกระทบจากการคงบัญชี PWL คงไม่มี โดยเฉพาะในเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) โดยปีนี้ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ผ่อนผันไม่ระงับสิทธิสินค้า 11 รายการ เช่น ทุเรียนสด กล้วยไม้สด มะขาม/มะละกอตากแห้ง เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น และขอคืนสิทธิสินค้า 3 รายการ คือ แป้ง/ธัญพืช เม็ดพลาสติก และกระเบื้องปูพื้นและผนัง ซึ่งจะประกาศผลวันที่ 1 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้จัดให้ 12 ประเทศ อยู่ในบัญชี PWL ได้แก่ จีน รัสเซีย อัลจีเรีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซุเอลา และไทย

ส่วนบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) มี 33 ประเทศ ลดลงจากปี 2551 ที่มี 36 ประเทศ เช่น เบลารุส โบลีเวีย บราซิล บรูไน โคลัมเบีย คอสตาริกา อียิปต์ มาเลเซีย เม็กซิโก คูเวต โปแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น โดยปีนี้เกาหลี และไต้หวัน ถูกถอดออกจากบัญชีดับบลิวแอล และไม่ถูกจัดอยู่ในบัญชีใดเลย



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ