นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าและการลงทุน เพื่อเตรียมข้อมูลด้านต่าง ๆ ในการชี้แจงกับนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่ยังมีความสับสน ทั้งการกำหนดสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย การควบคุมมลพิษในเขตมาบตาพุด และการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
นายสรยุทธ เพชรตระกูล ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หารือประเด็นดังกล่าวร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมยึดคำสั่งของศาลปกครองที่คุ้มครองการประกาศยกเลิกสารซัลเฟอร์ไม่เป็นวัตถุอันตราย หลังจากมีการร้องเรียนในเรื่องนี้ ขณะที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งชี้แจง และวางมาตรการดูแลนักลงทุน
อนึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลปกครองกลางหลังจากที่ได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องยกเลิกให้สารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย เพราะประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมมีเจตนาควบคุมการใช้สารซัลเฟอร์ในการเกษตร แต่กรมศุลกากรตีความถึงสารซัลเฟอร์ทุกชนิดต้องขออนุญาตนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์
นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยืนยันว่ายังเดินหน้าต่อไป แม้ขณะนี้จะมีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษก็ตาม โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้บีโอไอทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกรมควบคุมมลพิษ เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลให้บีโอไอนำไปชี้แจงต่อนักลงทุนต่อไป
"Process ยังเดินหน้าตามปกติ แต่สิ่งที่จะทำต่อไป จะมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ถึงหลักเกณฑ์ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ชี้แจงต่อนักลงทุนได้ จะไม่มีสูญญากาศเกิดขึ้น" นายสรยุทธ
ส่วนปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นของธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเรียกร้องให้กรมสรรพากรใช้วิธีการคำนวณภาษีแตกต่างจากบริษัทเอกชนทั่วไปที่ต้องนำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ของแต่ละโครงการของนิติบุคคลเดียวกันมาหักกันก่อน หากมีกำไรสุทธิเหลือจึงจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมากิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ จะใช้สิทธิแยกแต่ละโครงการตามที่ได้สิทธิประโยชน์
นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง พิจารณาเรื่องนี้ตามกรอบดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของ 2 หน่วยงาน โดยให้เวลา 3 เดือน และอาจจะมีการยื่นเรื่องสอบถามไปยังศาลอุทธรณ์อีกครั้ง