นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ยอมรับว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(6 พ.ค.) ได้หารือกันถึงการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสินในกลุ่มของยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย นอกเหนือจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยในส่วนของภาษีสรรพสามิตบุหรี่และน้ำมันขณะนี้มีการเรียกเก็บเต็มเพดานแล้ว จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เพื่อปรับเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
ปัจจุบันกระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่ 80% และน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดที่ 5 บาท/ลิตร ซึ่งจะมีการออก พ.ร.ก.เพื่อปรับเพิ่มเพดานใหม่เป็น 90% สำหรับบุหรี่ และ 10 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมัน แต่อัตราภาษีที่จะปรับขึ้นจริงจะเป็นเท่าใดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้
"น้ำมันเพดานปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาท การขยับเพดานก็คือขึ้นไปอาจจะถึง 10 บาทก็ได้ แต่ตัวเนื้อภาษีที่จะปรับขึ้นจริงๆ เป็นเท่าไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนบุหรี่ถ้าจะปรับเพดานจาก 80% เป็น 90% ก็ได้ แต่ภาษีที่จะขึ้นจริงๆ นั้นไม่ได้ขึ้นชนเพดาน" รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุเช้านี้
ทั้งนี้ คาดว่าการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 50,000-55,000 ล้านบาท/ปี หากในท้ายสุดแล้วมีการปรับขึ้นภาษีที่ 2 บาท/ลิตร, ส่วนบุหรี่คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มอีก 15,000-20,000 ล้านบาท/ปี, เบียร์ คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่ม 7,000 ล้านบาท/ปี และสุราทุกประเภทได้เพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท/ปี รวมทั้งหมดแล้วน่าจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นราว 70,000-80,000 ล้านบาท/ปี
รมช.คลัง กล่าวว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หารือกันแล้วโดยยืนยันว่ากองทุนน้ำมันจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระส่วนต่างของราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกตามสถานีบริการน้ำมันทั่วไป
"เรื่องน้ำมันนั้นในครม.ได้คุยกับกระทรวงพลังงาน เพราะเรื่องการรับผิดชอบส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นคงเป็นเรื่องของกองทุนน้ำมัน คงไม่มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนในเรื่องของราคาขายปลีก" นายพฤฒิชัย ระบุ
ส่วนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบนั้น รัฐบาลเห็นว่าเป็นสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมายในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับการรณรงค์ให้ควบคุมการบริโภคสุราและยาสูบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับสินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมานานแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
รมช.คลัง กล่าวว่า ในเรื่องการปรับขึ้นอัตราภาษีนั้น รัฐบาลตระหนักว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมน้อยที่สุด และในส่วนของกรมสรรพากรจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีอย่างแน่นอนในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ตลอดจนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เป็นต้น