นายมูฮัมหมัด อัล-จาสเซอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางซาอุดิอาระเบียกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการบริการด้านการเงินแห่งอิสลามซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ว่า ซาอุดิอาระเบียจะยังคงสนับสนุนนโยบายผูกติดสกุลเงินริยัลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐต่อไป เพราะการใช้นโยบายผูกติดค่าเงินเป็นผลดีต่อซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ยังคงมีอิทธิพลต่อระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลก
ที่ผ่านมานั้น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ และโอมาน ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ยกเลิกการผูกติดค่าเงินของตนเองกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากค่าเงินดอลลาร์ทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ราคาสินค้านำเข้าในตะวันออกกลางมีราคาแพงขึ้น
ซาอุดิอาระเบียยังคงใช้นโยบายผูกติดค่าเงินมานับตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 และบาห์เรนใช้นโยบายผูกติดค่าเงินนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2523 ส่วนนายอับดุลเลาะห์ บิน ซาอัด อัล-ตัน ผู้ว่าการธนาคารกลางกาตาร์กล่าวในที่ประชุมครั้งนี้ว่า กาตาร์ยังคงพอใจที่จะใช้นโยบายผูกติดค่าเงินของกาตาร์กับดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม มีแต่คูเวตเพียงประเทศเพียงเท่านั้นในกลุ่ม 6 ชาติมหาอำนาจอาหรับที่ประกาศยกเลิกนโยบายผูกติดค่าเงินในเดือนพ.ค.2549 ซึ่งปัจจุบันคูเวตนำเงินดินาร์เข้าคำนวณในตะกร้าสกุลเงินโลก รวมถึงสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร และปอนด์
"ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นทางเลือกหลักในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย เรามีดอลลาร์สำรองไว้สูงมาก และเรามั่นใจในนโยบายผูกติดสกุลเงินว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศของเรา ส่วนเรื่องการใช้สกุลเงินเดี่ยวในกลุ่มประเทศอาหรับนั้น ยังไม่มีการทำข้อตกลงกันในเรื่องนี้" ผู้ว่าการธนาคารกลางซาอุดิอาระเบียกล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน