ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง"ไลฟ์สไตล์ของประชาชนในการเลือกซื้อและใช้สินค้าในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย"พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าค่อนข้างเคร่งครัดในการใช้ชีวิตแบบพอเพียงในเดือนพ.ค.มากขึ้นกว่าในการสำรวจเดือนมี.ค.ถึง 67.6% ขณะที่ประชาชนอีก 32.4% บอกว่าไม่ค่อยเคร่งครัดเลย
สำหรับปัจจัย 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการในปัจจุบัน อันดับแรก 89% คือคุณภาพของสินค้า รองลงมา 82.4% คือราคา และ 64.8% เป็นความสะดวกในการซื้อหรือใช้บริการ
นอกจากนี้การสำรวจสภาพความเป็นจริงของชีวิตในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต่างรักษาข้าวของเครื่องใช้ให้คงสภาพการใช้งานได้ยาวนาน การมุ่งทำงานเพื่อให้พออยู่พอกินและมีเงินเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น การวางแผนการใช้จ่ายและหารายได้อย่างเป็นขั้นตอนรัดกุม ตลอดจนการทำงานหารายได้พิเศษเพิ่มเติม และจากการสำรวจยังพบว่าประชาชนลดการซื้อหวยรัฐบาลและหวยใต้ดินลงจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือนมี.ค.ด้วย
ทั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจสำหรับการสำรวจครั้งนี้เกี่ยวกับความคิดเห็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในการทำธุรกิจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 74.7% ค่อนข้างเห็นด้วยว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจ โดยประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่มาจากทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน ธุรกิจส่วนตัว เกษตรกร แม่บ้าน รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษา โดยมีประชาชนเพียง 25.3% ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
นายนพดล กรรณิกา ผ.อ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเมืองและสังคมกำลังอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในการจับจ่ายใช้สอย โดยคำนึงถึงคุณภาพสินค้า ราคา และการใช้งานได้อย่างคงทนยาวนาน มีการประยุกต์ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
"ผลวิจัยครั้งนี้กลับพบว่ายังคงมีทัศนคติต่อการทุจริตคอรัปชั่นที่รุนแรงมากขึ้นในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน กลุ่มพ่อค้าผู้ประกอบการธุรกิจ และกลุ่มข้าราชการ หากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีและมีภาพลักษณ์ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ถูกทำลายความน่าเชื่อถือในจุดแข็งหลักสำคัญด้านนี้ไป ก็นับเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเริ่มนับถอยหลังของการบริหารราชการแผ่นดิน" นายนพดล กล่าว
ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,362 ครัวเรือน ในวันที่ 6 พ.ค.52