นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องในประเทศมีสูงมากพอที่รัฐบาลใช้เงินกู้ในประเทศเพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่กำหนดวงเงินเบื้องต้นราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ติดลบน้อยลงจากที่ ธปท.ประเมินไว้ในระดับ -3.5 ถึง -1.5%
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า สภาพคล่องส่วนเกินในระบบมีอยู่มาก โดยธปท.ปล่อยเงินเข้าสู่ระบบในแต่ละวันประมาณ 8-9 แสนล้านบาท และมีสินทรัพย์สภาพคล่องเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที แต่ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้ คือ ความต้องการสินเชื่อมีน้อยลง เพราะนักลงทุนไม่ต้องการเก็บสต๊อกสินค้ามาก เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว
ภาครัฐสามารถใช้ช่องทางการกู้เงินในประเทศได้โดยจะไม่มีผลกระทบต่อความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน แต่ที่สำคัญคือ หากรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้ตามเป้าที่วางไว้ เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่า 3.5%
ส่วนปัจจัยทางการเมืองในขณะนี้นั้น แม้จะเริ่มมีการพูดถึงแนวทางการยุบสภา แต่หากมีการผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 รวมทั้งมีแนวทางการหาแหล่งเงินทุนและมีแผนใช้จ่ายอย่างชัดเจนแล้ว การว่างเว้นฝ่ายบริหารเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งก็จะไม่กระทบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถ้ามีการวางรากฐานแล้วเดินหน้าได้ตามที่กำหนดไว้
ด้านปัจจัยภายนอกประเทศนั้น เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางจุดบางประเภท อย่างเช่นกรณีของสหรัฐนั้นการบริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์บางจุดเร่งตัวขึ้น ในยุโรป ตัวเลขก็เริ่มดีขึ้นเป็นบางตัว แต่ยังวางใจไม่ได้ เปรียบเหมือนเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์ในจุดนี้ด้วย แต่ยังต้องติดตามปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า สำหรับการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์นั้น เชื่อว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ การปล่อยสินเชื่อโดยมีการจัดการระบบการค้ำประกันสินเชื่อ น่าจะมีการวางระบบให้เดินหน้าได้โดยเร็ว ซึ่ง ธปท.ได้หารือร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อจัดระบบการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs
ทั้งนี้ เชื่อว่าในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการปล่อยสินเชื่อ เพียงแต่ธนาคารจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในอัตราที่ช้าลง ซึ่งช่วงไตรมาส 4/51 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 4.3% แต่สินเชื่อยังขยายตัวได้ ขณะที่ไตรมาส 1/52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 5-6% สินเชื่อยังขยายตัว 5% แต่เป็นการขยายตัวในสินเชื่อบางประเภทเท่านั้น เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว 14% แต่สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเพียง 3%
นางธาริษา กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ควรพิจารณาให้สินเชื่อโดยดูจากความเสี่ยงของทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ควรพิจารณาเป็นรายธุรกิจมากกว่า ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
แต่ยอมรับว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดย NPL เพิ่มจาก 2.9% เป็น 3.1-3.2% แต่จากการที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองจำนวนมาก มีเงินกองทุนอยู่ถึง 14% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จึงมั่นใจว่าจะเพียงพอรองรับวิกฤติโลกได้ อีกทั้งภาคสถาบันการเงินไทยที่แข็งแกร่ง และธนาคารพาณิชย์ เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
"NPL กลุ่มไหนที่น่าจับตามอง คงจะเหมารวมไม่ได้ เพราะในแต่ละ Sector ก็ยังมีธุรกิจที่ยังไปได้ และบางรายอาจจะอยู่ลำบาก ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจแบบนี้ มีแนวโน้มที่สินเชื่อทุกประเภทจะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น" ผู้ว่า ธปท. กล่าว
นางธาริษา กล่าวว่า แม้สภาพคล่องในขณะนี้ยังไม่มีปัญหา แต่ต้องระวังในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะส่งผลให้ความต้องการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มขยายตัว ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการสภาพคล่องในดี แม้ในช่วงนั้นรัฐบาลอาจจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นแล้วและมีการกู้เงินในประเทศน้อยลง