นักการเงินเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางด้าน ศก.จี้รัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 9, 2009 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการสัมมนา "จับชีพจรเศรษฐกิจ" ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรก จะติดลบประมาณ 6-7% เป็นการติดลบมากกว่าช่วงไตรมาส4 ของปี 2551 และสูงกว่าที่คาดว่าจะติดลบ 5% เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อเข้าสู้ระบบได้ ทำให้สินเชื่อไตรมาสแรกติดลบประมาณ 2%

การผลักดันสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ถือเป็น 1 ใน 3 นโยบายการแก้ไขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยอีก 2 นโยบาย คือ อัตราแลกเปลี่ยนและการใช้จ่ายของภาครัฐและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในช่วง 3 เดือนแรกทำได้ค่อนข้างดี โดยอัตราค่าเงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับ 35.34 บาท/ดอลลาร์ จากที่ควรจะอยู่ที่ 35.5 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐทำได้ 1.36 แสนล้านบาท จากที่ควรจะอยู่ 1.38 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าจะให้เกรดไตรมาสแรกรัฐบาลได้เกรด c ช่วงที่เหลือยังมีเวลาแก้ไขเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจติดลบมากกว่านี้หรือเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส 4 ตามที่อยากจะเห็น

นายโอฬาร กล่าวว่า นโยบายทั้ง 3 ด้านยังมีความจำเป็นนโยบายทั้ง 3 ยังต้องมีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกติดลบ เพื่อให้รายได้ ในรูปเงินบาทไม่ต่กต่ำไปด้วย แบงก์ชาติควรมีความชัดเจนในการทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ประกอบกับในปัจจุบันสามารถอัดฉีดเงินบาทเข้าสู่ระบบเพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าง่ายกว่าในอดีตที่ต้องทำให้เงินบาทแข็งค่า

ในด้านของนโยบายการผลักดันสินเชื่อภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้แบงก์สามรารถปล่อยกู้ได้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันแบงก์กังวลด้านความเสี่ยง โดยเฉพาะจากผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งรัฐบาลต้องรับประกันความเสี่ยงทั้งหมด ทั้งค้ำประกันสินเชื่อ หรือ การรับประกันด้านทุน ว่าหากอนาคตมีปัญหาพร้อมจะเพิ่มทุนให้ นอกจากนั้นรัฐบาลต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินที่ต้องการอัดฉีดสินเชื่อเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดภาคเศรษฐกิจที่ควรได้รับการอัดฉีดสินเชื่อซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

นายโอฬาร กล่าวว่า คาดการณ์ว่าหากมาตรการทั้งหมดประสบความสำเร็จจะทำให้เศรษฐกืจปีนี้ติดลบ 2% แต่หากมาตรการใดไม่เป็นไปตามที่คาด ก็มีแนวโน้มเศรษฐกิจจะติดลบมากขึ้นทากเดิมที่มองว่าไทยจะติดลบมากสุดในอาเซียน และอาจเป็นอันต้นๆ ของโลก

ด้านายทนง พิทยะ อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าไทยมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะติดลบในระดับสูง เพื่อให้การแก้ไขเศรษฐกิจทำได้เร็วและไม่เกิดผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง ส่วนตัวแม้ว่าในระยะสั้นจะสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นมาก แต่ก็ยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดวิกฤต โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี และยังน่าเป็นว่าภาคธุรกิจหลายส่วนยังมีปัญหาและอาจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต รวมทั้งผลต่อเนื่องจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมากจะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเงินฝืดตามมา

ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังมีอีกหลายส่วนต้องติดตาม ทั้งการแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจในสหรัฐ ภาคสถาบันการเงินในยุโรป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ความต้องการเงินของเกาหลีใต้ และปัญหาด้านเศรษฐกิจในตะวันออกลาง ขณะที่ไทย ปัญหาการดำเนินนโยบายของรัฐบาลผสมยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจในด้านต่างๆ เพราะมีอุปสรรคด้านการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายในรัฐบาล ทำให้การขับเคลื่อนต่างๆ ไม่คล่องตัว

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีโอกาสดีขึ้น ขณะที่ปีหน้ายังค่อนข้างนิ่ง ซึ่งสิ่งสำคัญขณะนี้คือความสามารถที่จะต้องอยู่รอดและการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรอับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาในปีหน้า ซึ่งตอนนี้แนวโน้มที่ดีแต่ความเชื่อมั่นยังหดหาย เอกชนไม่กล้าลงทุน ซึ่งก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าภาคเอกชนกำลังรอข่าวดีเพราะค้าปลีกขนาดใหญ่ของยุโรปจะเข้ามาลงมทุน ซึ่งหากเข้ามาจริงจะกระตุ้นความรู้สึก และจุดประกายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่หดหายกลับคืนมาได้ว่าทุกอย่างใกล้ถึงจุดต่ำสุดและใกล้เติบโตขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ