ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนร่วง 3 เดือนติดต่อกัน หลังราคาอาหาร-สินค้าโภคภัณฑ์ลดลง

ข่าวต่างประเทศ Monday May 11, 2009 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (CPI) ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะช่วยทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเป็นผลสำเร็จมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ร่วงลง 1.5% จากปีก่อนและลดลงต่อเนื่องจากระดับ 1.2% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดิ่งลง 6.6% ซึ่งทำสถิติทรุดหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2542

ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงอาจช่วยให้ภาคธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนไปได้เปราะหนึ่ง และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกท่จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ยอดส่งออกตกต่ำลง และการที่จีนไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางจีนสามารถใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนได้สะดวกมากขึ้นหลังจากที่ปรับลดดอกเบี้ย 5 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว

"ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดลงนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ" หวัง เต๋า นักวิเคราะห์จากยูบีเอส เอจี ในปักกิ่งกล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กพร้อมทั้งชี้ว่าราคาสินค้าที่ชะลอตัวส่งผลดีแก่ทั้งสองฝ่ายเพราะจะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตก็มีต้นทุนที่ลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เงินเฟ้อของจีนอยู่ที่ระดับ 8.5% เนื่องจากราคาสุกรแพง โดยราคาที่สูงขึ้นนี้กระตุ้นให้เกษตรหันมาเลี้ยงหมูมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด แต่ขณะนี้ราคาสุกรดิ่งลงใกล้แตะระดับต่ำที่อาจทำให้รัฐบาลต้องยื่นมือช่วยเหลือเพื่อรับประกันรายได้ของผู้เลี้ยงสุกรก็เป็นได้

ด้านนักวิเคราะห์จากโซซิเอเต เจเนอราล เอสเอในฮ่องกงกล่าวว่า ราคาสินค้าที่ลดลง ประกอบกับการใช้มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือในการซื้อสินค้าคงทนอาจช่วยให้รัฐบาลสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง โดยภาวะที่อาจเรียกว่าเงินฝืดเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ