นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยอมรับว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในระยะนี้ มาจากที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีหน้าที่ติดตามดูแลในประเด็นดังกล่าว
ในช่วงไตรมาส 1/52 พบว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยธรรมชาติ และการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลต่อภาคการส่งออก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะวางแนวทางดูแล พิจารณาให้ครบรอบด้าน เปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ ด้วย ไม่เฉพาะ เงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์เท่านั้น
"หากเงินบาทเราแข็งค่า ต้องดูว่าคนอื่นแข็งค่าด้วยหรือไม่ เราต้องดูบาทเมื่อเทียบสกุลอื่นด้วย ไม่เฉพาะดอลลาร์ ซึ่งที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจก็มีการหารือถึงเรื่องนี้ทุกครั้ง...บาทแข็งค่าเกิน 35 บาท/ดอลลาร์ จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกหรือไม่ ยอมรับว่า เราพึ่งพาการส่งออก ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าเร็ว ก็กระทบในแง่ความสามารถการแข่งขัน" รมว.คลังกล่าว
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจให้นโยบายแก่ ธปท.ในเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องดูแลเรื่องนี้เอง
รมว.คลัง กล่าวว่า ส่วนการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ในระยะแรกรัฐบาลจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน โดยจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยอุดหนุน แต่ในระยะยาวคงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ขณะที่แนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่