กสิกรฯเผยหลายปัจจัยหนุนบาทแข็งค่าต่อเนื่อง-เตือนทุกฝ่ายรับมือบาทผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 11, 2009 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 52 ปรับตัวค่อนข้างผันผวน โดยช่วง ม.ค.-ก.พ.52 เงินบาทอ่อนค่าลงตามกระแสของสกุลเงินในภูมิภาค จากแรงกดดันของการส่งออกที่ทรุดตัวลง ขณะที่เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

"เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นนับจากต้น มี.ค.52 แต่ถูกเทขายเป็นระยะๆ จากปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตประเทศ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นตามแรงขายเงินดอลลาร์ทำกำไร หลังจากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยโดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไปอาจถูกผลักดันจากหลายปัจจัย โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ในระยะสั้น

โดยปัจจัยกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาทที่จะต้องจับตาอย่างระมัดระวัง ประกอบด้วย กระแสการเทขายเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งเริ่มเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.52 เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับการทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นทั่วโลก ท่ามกลางความหวังว่าช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบนี้อาจผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินในเอเชียต้องเผชิญกับแรงขายเพื่อปรับฐาน/ทำกำไร หากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกถูกถ่วงลงด้วยเครื่องชี้เศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังมีความเปราะบางอย่างมาก

นอกจากนี้ แนวโน้มการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 52 อาจส่งผลทำให้ผู้ส่งออกมีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความกังวลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยส่งผลในทิศทางที่กลับกัน เนื่องจากความอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าทรุดตัวรุนแรงช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าปี 52 ไทยอาจเกินดุลการค้า 8,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 51 ที่เกินดุลเพียง 200 ล้านดอลลาร์

จุดยืนการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เครื่องมือหลักของ ธปท.ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นจุดยืนหลักที่การเข้าดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่าที่จะเข้าไปกำหนดระดับเป้าหมายของค่าเงินบาทเพื่อหนุนการส่งออก

"ดังนั้นจึงมองว่า ธปท.น่าจะยังคงจุดยืนของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เน้นเสถียรภาพ แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม แต่เป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคและกระแสการไหลเวียนของเงินทุนโลก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นของความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น นักลงทุน ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า และทางการไทยควรเตรียมตัวรับมือกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อาจจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่มีความผันผวนนับจากนี้ เนื่องจากความชัดเจนของการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลกภายในปีนี้ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องรอการยืนยันจากเครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักของโลก

ขณะที่ตลาดเงิน-ตลาดทุน จะปรับตัวรับรู้ข่าวเชิงบวกอย่างรวดเร็ว โดยอาจมองข้ามปัญหาในภาคการเงินที่ยังคงไม่หมดไป ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจากแนวโน้มการเกินดุลการค้า และความแข็งแกร่งของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคตามกระแสการฟื้นตัวขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น อาจถูกทดสอบเป็นระยะๆ โดยเฉพาะหากมีแรงขายทำกำไรออกมาในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ฐานะดุลการค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจไม่เกินดุลมากเหมือนในช่วงไตรมาส 1/52

นอกจากนี้ นักลงทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนคงจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ ว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจริงตามที่ตลาดคาดหวังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มความผันผวนดังกล่าวคงจะเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ส่งออก-นำเข้าของไทยต้องเตรียมรับมือ ในขณะที่ ธปท.จะต้องดูแลให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ