พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 แสดงความคิดเห็นว่า การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นแข็งแกร่งในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาเกิดจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ครุกแมนกลับมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมาก
กระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากรัฐบาลทั่วโลกประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดัชนี MSCI World Index เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดตลาดหุ้นทั่วโลก พุ่งขึ้น 37% นับตั้งแต่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และหนุนดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 34% ในช่วงเวลาเดียวกัน
"ผมคาดว่าอีกไม่นานกระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นจะซาลง เพราะความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจจะดิ่งลงลึกถึงก้นเหวและดีดตัวขึ้น หรือลักษณะการเคลื่อนไหวแบบตัว V นั้น เกิดขึ้นได้ยากมากในระยะเวลาอันใกล้นี้" ครุกแมนกล่าว
ก่อนหน้านี้ ครุกแมนแสดงความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐและยุโรปควรเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ราว 4% ของตัวเลขจีดีพี โดยเฉพาะยุโรปที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่อาจหลุดพ้นภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ครุกแมนกล่าวว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐควรอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี ส่วนในยุโรปน่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี"
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 1.3%ในปีนี้ เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค.ว่าขยายตัว 0.5% โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นในระยะใกล้นี้ และการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความพยายามของรัฐบาลในการเสริมสร้างงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์และการใช้มาตาการกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน