ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วง หลังสหรัฐเผยยอดขาดดุลการค้าพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 13, 2009 07:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 พ.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยยอดขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นและการคาดการณ์ที่ว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มขึ้นด้วย

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลง 1.17% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 96.390 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 97.530 เยน/ดอลลาร์ และร่วงลง 0.32% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1061 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1097 ฟรังค์/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.43% แตะระดับ 1.3632 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3574 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ดีดตัวขึ้น 0.95% แตะระดับ 1.5258 จากระดับ 1.5114 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.79% แตะระดับ 0.7644 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.7584 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดีดตัวขึ้น 0.72% แตะระดับ 0.6056 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.6013 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะ 2.76 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.จากเดือนก.พ.ที่ระดับ 2.61 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ยอดขาดดุลในเดือนดังกล่าวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่ ABC News เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นตามคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี Consumer Comfort Index เพิ่มขึ้นสู่ระดับ -42 จุด ในสัปดาห์ที่สิ้น สุด ณ วันที่ 10 พ.ค.จากระดับ -43 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพ.ค.

ทำเนียบขาวคาดการณ์ว่า ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2552 หรือสูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าถึง 4 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเสียเงินจำนวนมากไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขวิกฤตการณ์การเงิน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ