นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนให้รัฐบาลใช้ความกล้าหาญผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะจะต้องถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายที่เสียประโยชน์แน่นอนทั้งฝ่ายการเมืองและกลุ่มที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยเสนอแนะให้จัดตั้งหน่วยงานอิสระจัดระบบประเมินภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม ให้ส่วนกลางเก็บภาษีแล้วจัดสรรให้ท้องถิ่น แทนที่จะให้ท้องถิ่นจัดเก็บกันเอง
การเก็บภาษีที่ดินฯ และภาษีมรดก เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาเตรียมการมานานแล้ว และเป็นนโยบายที่ได้พิจารณาจากหลายรัฐบาลแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งหากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดเป็นผลสำเร็จจริง ถือเป็นความตั้งใจ และเป็นความกล้าหาญทางการเมืองอย่างมาก
รัฐบาลไม่ควรสนใจว่าการเป็นรัฐบาลผสมจะทำให้การดำเนินการเก็บภาษีเป็นเรื่องยาก เพราะอาจถูกต่อต้านจากกลุ่มคนที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมากมาก ซึ่งหากรัฐบาลสามารถผลักดันการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ก็จะได้รับเสียงจากประชาชนที่อยู่นอกสภา ขณะที่เสียงต่อต้านส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในสภาฯ
"หากจะมองว่ามีการเก็บภาษีทรัพย์สินนี้แล้ว นักการเมืองจะต่อต้านไม่อยากให้ขึ้นภาษี เพราะกระทบคนรวย จริงๆ แล้ว ภาษีดังกล่าวมีการเก็บอยู่แล้วในรูปของภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ เพียงแต่เปลี่ยนให้เป็นระบบภาษีใหม่เท่านั้น ดังนั้นหากรัฐบาลดำเนินการให้เกิดความรัดกุม รอบคอบ ลดช่องโหว่ของกฎหมาย เชื่อว่า ไม่ใช่จะถูกต่อต้านจากพรรคการเมืองใด แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้ที่ต้องเสียภาษีมากกว่า" นายตรีรณ กล่าว
นายตรีรณ กล่าวอีกว่า แนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ตามที่ได้มีการศึกษามาจะกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีในเบื้องต้น 3 อัตรา คือ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยโดยไม่เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่เกิน 0.05% ถือว่ามีความเหมาะสมดีแล้ว
แต่เห็นว่าควรจะมีการจัดระบบวิธีการประเมินที่สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี โดยตั้งเป็นหน่วยงานอิสระ อาจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังหรือกรมธนารักษ์ มีหน้าที่ในการปรับปรุง ประเมินการจัดเก็บภาษี เพื่อลดปัญหาเรื่องการใช้วิจารณญาณการประเมินและเก็บภาษี และป้องกันไม่การเมืองแทรกแซง ซึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานที่ต้องมีความรับผิดชอบ มีบทลงโทษผู้กระทำผิดชัดเจน
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลางเป็นหลักของการจัดเก็บภาษี ก่อนจะจัดสรรเงินรายได้ให้ท้องถิ่นในภายหลัง ไม่ควรให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายจัดเก็บภาษีโดยตรง เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีดังกล่าว
"ภาษีทรัพย์สินไม่ใช่ภาษีใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษี ดังนั้น กระทรวงการคลังต้องเตรียมพร้อมให้รอบคอบ โดยเฉพาะการมีระบบประเมินภาษีที่ต้องใช้หน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับการเมือง เพื่อสร้างความเป็นธรรม หากผ่านตรงนี้ได้การเก็บภาษีทรัพย์สินที่ดินก็ไม่น่ามีปัญหา"นายตีรณ กล่าว
สำหรับการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นภาษีที่มีฐานรายได้เล็ก แต่มีผลกระทบต่อวงกว้าง อีกทั้งควรปรับปรุงวิธีการเก็บภาษีให้กว้างขึ้น ไม่ควรใช้ระบบเดิมที่จะจัดเก็บภาษีมรดกกรณีที่เจ้าของมรดกเสียชีวิตแล้วและมีการแบ่งทรัพย์สิน แต่ควรจัดเก็บภาษีกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย