นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงเป็นห่วงภาวะขาขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้ หากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงผันผวนต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องเตรียมการให้เงินในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่เหมาะสมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะถ้ากองทุนฯ ต้องเข้าไปอุดหนุนแบกรับภาระภาษีน้ำมันที่กระทรวงการคลังเตรียมปรับขึ้นแทนประชาชน ก็คงต้องพิจารณาจังหวะเวลาที่น้ำมันอยู่ในช่วงขาลง
ล่าสุดราคาน้ำมันดิบในสหรัฐปรับขึ้นราคาสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน แตะระดับ 60.08 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เคยขึ้นไประดับสูงสุดที่ 147 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อเดือน ก.ค.51
นายพรชัย กล่าวว่า หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้นไปมากอาจมีการพิจารณาปรับลดเงินกองทุนฯ หรือไม่อย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะขยายการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มจากอัตราที่จัดเก็บสูงสุดที่ 7 บาท/ลิตร และไม่มีแนวคิดเพิ่มจากเกณฑ์ที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยประโยชน์ของกองทุนฯ นั้นจะเป็นส่วนช่วยรองรับกรณีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน
ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าราคาน้ำมันในปีนี้ จะอยู่ระดับ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล จะไม่สูงถึงระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลเช่นปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60 ปี และถึงแม้รัฐบาลจะลดเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อลดภาระการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่อาจจะปรับขึ้นงวดแรก 2 บาท/ลิตร และจะปรับเพิ่มเงินกองทุนฯ ภายหลังในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้นไปถึง 40 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ ค่าการตลาดน้ำมัน ได้ลดต่ำลงเหลือไม่ถึง 1 บาท/ลิตรในขณะนี้ จากอัตราปกติจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท/ลิตร และในส่วนของกลุ่มดีเซล บี 2 ลดลงเหลือประมาณ 75 สตางค์ บี 5 อยู่ที่ 1.10 บาท ในขณะที่แก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 1 บาท และเบนซิน 91 อยู่ที่ 1.60 บาท/ลิตร และการที่ค่าการตลาดสูงกว่า ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ส่วนหนึ่งมาจากราคาเอทานอลที่ซื้อขายจริงอยู่ที่ 22-23 บาท/ลิตร ยังไม่ปรับลดลงตามที่กระทรวงพลังงานประกาศสูตรราคาใหม่ที่ประมาณ 18 บาท/ลิตร