กรุงเทพโพลล์ เผยคนกรุงหนุนขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ แต่ค้านขึ้นภาษีน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจ"ประชาชนคิดอย่างไรกับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555"ว่า คนกรุงเทพส่วนใหญ่ขานรับการขึ้นภาษีสรรพสามิตเหล้า-เบียร์-บุหรี่ เพื่อหารายได้เข้ารัฐเพิ่ม แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ห่วงราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายกระโดดตาม

การสำรวจครั้งนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่อาศัยในเขตกทม.รวม 1,195 คน เมื่อวันที่ 11-13 พ.ค.52 พบว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่และสุรา 75.9% ขณะที่ 24.1% ไม่เห็นด้วย เพราะขึ้นราคามากเกินไป ทำให้ผู้ซื้อมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และกลัวมีการลักลอบนำของหนีภาษีเข้ามา

ในด้านผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่และสุรา มีเพียง 20.8% บอกว่าได้รับผลกระทบ เพราะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น มีผลต่อธุรกิจที่ทำอยู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุหรี่และสุรา แต่อีก 79.2% บอกว่าไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ความเห็นต่อการหารายได้เข้าสู่รัฐด้วยวิธีการเพิ่มกรอบภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกประเภทในเร็วๆ นี้ มีเพียง 27.3% ที่เห็นด้วย ขณะที่ส่วนใหญ่ 72.7% ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และปัจจุบันน้ำมันมีราคาแพงอยู่แล้ว และการได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ส่วนใหญ่ 71.5% ได้รับผลกระทบเพราะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น และ 28.5% ไม่ได้รับผลกระทบ

และ ส่วนใหญ่ 76.2% เห็นด้วยที่ให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาช่วยชะลอการขึ้นราคาน้ำมัน อันเนื่องมาจากการขึ้นภาษีน้ำมัน เพื่อราคาสินค้าจะได้ไม่ต้องปรับขึ้น ประชาชนจะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และมีเพียง 23.8% ที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ช่วยได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

ผลโพลล์ ยังระบุว่า การที่ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 8 แสนล้านบาท คนกรุงเทพส่วนใหญ่ 54.1% เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่อีก 45.9% ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้ประเทศมีหนี้เพิ่ม เป็นเงินก้อนใหญ่เกินไป และกลัวเป็นการกระทำที่เสียเปล่า

ความเห็นต่อมาตรการลงทุนระยะยาวที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 55 เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทย ประชาชนส่วนให ญ่ 77.5% เห็นด้วย เพราะได้มีการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสในการ แข่งขันให้ประเทศไทย แต่ 22.5% ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ควรกู้เงินมาลงทุนมากเกินไป เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน และกลัวความไม่โปร่งใส

สำหรับ มติ ครม.ที่ให้ตัดลดงบประมาณประจำปี 53 ของกระทรวงต่างๆ ลงจาก 1.99 ล้านล้านบาท เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ 84% เห็นด้วยเพราะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประเทศ บางกระทรวงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และจะได้นำเงินไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่จำเป็นมากกว่า และมีเพียง 16% ที่ไม่เห็นด้วยเพราะงบประมาณน้อยเกินไปไม่พอที่จะนำไปบริหารประเทศ การตัดงบประมาณไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และบางกระทรวงไม่ควรถูกตัดงบประมาณ

เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตัดลดงบประมาณ ของกระทรวงด้านความมั่นคง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เห็นด้วยกับการตัดงบประมาณกระทรวงด้านเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ