นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศจะคลี่คลายลงได้ในช่วงไตรมาส 3/52 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 52 ติดลบราว 4.3%
อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทย ยังขอรอติดตามดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะเริ่มทยอยเห็นผลในเดือน พ.ค.-มิ.ย. รวมถึงผลกระทบจากภาคประชาชนในด้านการบริโภค จากการที่รัฐบาลปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เหล้า และบุหรี่ ด้วย
กรณีดังกล่าวเป็นสมมติฐานที่มีโอกาสความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย. ขึ้นมาแล้ว แต่หากการเมืองคลี่คลายได้เร็วขึ้นภายในไตรมาส 2/52 ก็อาจเป็นผลดีทำให้จีดีพีติดลบน้อยลงเหลือ 3.5%
ส่วนจากกระแสข่าวที่มีผู้ประเมินว่าอาจจะมีการยุบสภาในช่วง 2-3 เดือนนี้นั้น นายธนวรรธน์ เห็นว่า คงต้องพิจารณาเงื่อนไขและองค์ประกอบของการยุบสภา ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด มาจากสาเหตุใด ซึ่งหากเป็นการยุบสภาแบบปัจจุบันทันด่วน และมีสาเหตุจากปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และสภาฯไม่สามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2553 ได้ ก็จะส่งผลให้จีดีพีปี 52 ติดลบมากถึง 5.3%
แต่หากเป็นการยุบสภาที่เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จแล้ว หรือเกิดขึ้นในช่วงหลังเดือน ก.ย.52 ก็เชื่อว่าจะเป็นการยุบสภาที่นำไปสู่การสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง เนื่องจากมีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองตามขั้นตอน ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการปฏิรูปการเมืองในประเทศ และจะไม่มีผลกระทบที่ทำให้จีดีพีหดตัวมากขึ้น
"การยุบสภา ต้องดูว่า ยุบจากสาเหตุไหน และยุบเมื่อไร ถ้ายุบจากเหตุขัดแย้งของพรรคร่วม และยุบอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยที่พิจารณางบประมาณปี 53 ไม่ทัน ตรงนี้อาจทำให้จีดีพี หดตัวถึง 5.3% ได้ แต่หากยุบสภาหลังการปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จ เชื่อว่าไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว
นอกจากนี้ หากรัฐสภาผ่านกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทก็เชื่อว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลมีเงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้