นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากในขณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกรณีความเคลื่อนไหวที่ผันผวน ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องดูแลในแง่ของเสถียรภาพ ซึ่งจะต้องไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและไม่ฝืนตลาด
สศค.มองว่าความผันผวนของค่าเงินที่ปรับตัวเร็วและแรงจะส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ได้ทันการ ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นผลจากเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยมีเงินทุนจำนวนมากไหลออกจากสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศแถบเอเซียมากขึ้น ส่งผลกดดันค่าเงินในภูมิภาคให้แข็งค่าขึ้น อีกทั้งในช่วงไตรมาส 1/52 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ จากการนำเข้าที่หดตัวมาก
นายเอกนิติ กล่าวว่า การดูแลค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้กระทบต่อความสามารถการแข่งขันของผู้ส่งออก และต้องเร่งการใช้จ่ายในประเทศ เร่งการลงทุน ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพื่อไม่ให้ความผันผวนของค่าเงินส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยประเมินว่า เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า หรืออ่อนค่า ทุก 1 บาท/ดอลลาร์ จะมีผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.3%
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องไม่ให้ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทฝืนตลาด
"ตอนนี้มีเงินไหลเข้ามาเอเซียมาก ขณะที่ราคาน้ำมันก็ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินจะมีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตต้องดูแลให้ดี ดูไม่ให้กระทบความสามารถการแข่งขัน เปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า คู่แข่งขัน...บาทในระดับใดที่เหมาะสมคงพูดลำบาก ต้องขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายเงินทุน และดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้นเราต้องเร่งการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ" นายเอกนิติ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"