(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 65.1

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน เม.ย.52 อยู่ที่ 65.1 ลดลงจากเดือน มี.ค.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 66.0

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 64.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 86.7

ปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้น, นักลงทุน ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวมีความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองหลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ยอดส่งออกในเดือน มี.ค.52 ลดลง 22.7% และความกังวลเรื่องค่าครองชีพจากปัญหาราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่มีปัจจัยบวกจาการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ, การแจกเช็คช่วยชาติให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%, รัฐบาลอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง 1.56 ล้านล้านบาท ตลอดจนความตึงเครียดทางการเมืองลดลงหลังมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน เม.ย. ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย และเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานจะแย่ลงตามเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ช่วง เม.ย.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 รวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์การเมืองอย่างรวดเร็ว โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง และคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ดัชนีทุกรายการลดลงติดต่อกัน 3 เดือน มาจากเรื่องการเมืองโดยตรง สาเหตุที่ชัดเจนมาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังโชคดีที่ยกเลิกได้เร็วในเดือน เม.ย. และสภามีการคลี่คลายสถานการณ์ โดยการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด รวมทั้งรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกว่าที่ไม่มีอะไรเลย เพราะไม่เช่นนั้นดัชนีจะทรุดตัวมากกว่านี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง และขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากดัชนีทุกตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับภาวะการบริโภคและยอดขายชะลอตัว แต่หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาทสามารถผ่านสภาได้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าไตรมาส 3-4/52 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามดัชนีความเชื่อมั่นเดือน พ.ค.ซึ่งจะเริ่มเห็นผลการทำงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทางการเมือง 2 ชุด และผลจากแผนปฏิบัติไทยเข้มแข็งปี 55 ว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค เริ่มผงกหัวขึ้นหรือไม่

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่ารัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นและเห็นผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่ไตรมาส 2-3/52 เป็นต้นไป ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และพยายามทำให้การเมืองมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค และจะช่วยผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปี 52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ