หอการค้าไทยจี้ ธปท.กดบาทอ่อน หวั่นแข็งค่ามากกระทบส่งออกระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยเสียเปรียบ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งสำคัญราว 3% เช่น จีน, มาเลเซีย, อินเดีย, เวียดนาม และปากีสถาน เป็นต้น

"ต้องฝากไปถึงแบงก์ชาติว่า เราขอให้ช่วยปรับให้เป็นสัดส่วนเดียวกับประเทศในอาเซียน เพราะหากบาทแข็งค่ามากไปจะทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ลำบากขึ้น"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มการส่งออกเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดือนมี.ค.ที่การส่งออกติดลบ 23.1% เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีจากยอดการออกใบรับรองสินค้าที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ออกให้กับสินค้าของผู้ประกอบการส่งออกในเดือนเม.ย.มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมี.ค.ถึง 33% ในขณะที่เดือนมี.ค.มียอดการออกใบรับรองสินค้าลดลง 7% เดือน ก.พ.ลดลง 42% และเดือน ม.ค.ลดลง 8%

"การส่งออก(เดือนเม.ย.)เริ่มมีสัญญาณที่ดีพอสมควร เห็นได้จากการออก CO เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นเครื่องชี้ว่าการส่งออกของเราเริ่มดีขึ้น"รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ

หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะยังติดลบ 20-25% ขณะที่ทั้งปี 52 จะติดลบราว 10-15%

ด้านนายคมสัน โอภาสสถาวร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของผู้ส่งออกสินค้าใน 9 กลุ่มสำคัญ ต่างเห็นพ้องกันที่ต้องการให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ การดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพราะจะเป็นปัญหาระยะยาวทำให้การส่งออกไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้

นอกจากนี้ยังต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ ผ่อนคลายกฎระเบียบในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ เนื่องจากปัจจุบัน SMEs ประสบปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยากมาก และสุดท้ายคือเรื่องการประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก ซึ่งต้องฝากไปถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) เนื่องจากยังมีระเบียบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัดมากเช่นกัน

นายสมศักดิ์ วิวัฒน์พนชาติ รองประธานกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย แสดงความไม่เห็นกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มเป็นช่วงขาขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเอกชนโดยตรง

นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ดังนั้นรัฐบาลควรออกจะมาตรการในลักษณะที่เป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อให้มีสภาพคล่องมาใช้จับจ่ายซื้อสินค้า มากกว่าที่รัฐบาลจะมาออกนโยบายเพิ่มอัตราภาษี ซึ่งทางเลือกนี้ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

"อยากเตือนรัฐบาลให้ระวังการขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะประเทศตอนนี้อยู่ในภาวะซบเซา รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคให้ประชาชนมีสภาพคล่องออกมาจับจ่ายได้มากกว่าที่จะไปดูดซับเงินจากประชาชนและเอกชนด้วยการขึ้นภาษี" นายสมศักดิ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ