นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะต้องใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการปรับแผนการกู้เงินก่อนที่คาดว่ากระทรวงการคลังจะเริ่มดำเนินขั้นตอนการกู้เงินได้ในราวเดือน มิ.ย.52
"รอผ่านสภาฯ ก่อน จะเริ่มได้จริงกลางมิ.ย. หรือไม่เกินปลาย มิ.ย...มั่นใจว่าจะไม่ตก(การพิจารณาของสภาฯ) เพราะเป็นเรื่องซีเรียสของรัฐบาลที่ต้องคุมเสียงในสภาฯให้ได้" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ผ.อ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า เงินกู้ก้อนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังที่ลดลงจากการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 52 ที่ต่ำกว่าประมาณการมาก เพราะหากไม่เตรียมสำรองเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังไว้ภายในปีงบประมาณ 52 แล้ว อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงต้นปี 53 ได้ นอกจากนี้เงินกู้ก้อนแรกยังจำเป็นต้องนำไปใช้สำหรับการลงทุนตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 2 ของรัฐบาลด้วย
นายพงษ์ภาณุ มั่นใจว่า พ.ร.ก.การกู้เงินฉบับดังกล่าวดำเนินการอยู่ภายใต้เงื่อนไขในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 และมีการผ่านกระบวนการศึกษาโครงการลงทุนต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบและโปร่งใส ไม่มีการหมกเม็ดตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา โดยกระทรวงการคลังยึดแนวทางสำคัญในการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว 3 เรื่องหลัก คือ มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการกู้เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นการกู้เพื่อล้างหนี้เก่า, การพิจารณาโครงการลงทุนที่ต้องใช้เงินกู้มีความโปร่งใส และมีระยะเวลาการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน คือ ปี 53-55
อย่างไรก็ดี การกู้เงินดังกล่าวอาจส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับจีดีพีเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าจะไม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงผิดปกติ โดยที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 50 อยู่ที่ 38.7% ต่อจีดีพี โดยมาอยู่ที่ 43.3% ในปี 52 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 47% ในปี 53 ส่วนในปี 55-56 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับ 61% ต่อจีดีพี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน แต่เชื่อว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 58 จะปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 40% ได้
ทั้งนี้ ผลจากการกู้เงินเพื่อนำไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 มูลค่า 1.56 ล้านล้านบาท จะทำให้จีดีพีตั้งแต่ปี 57 ขึ้นไปเติบโตอยู่ในระดับ 5-6%
"สัดส่วนหนี้สาธารณะจะปรับตัวอย่างรวดเร็วไปอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ต่างกันตรงที่ของเดิมนำไปใช้ล้างหนี้เก่า แต่ของใหม่เราใช้ลงทุน ซึ่งหลังจากนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะจะปรับลดลงอย่างรวดเร็ว" ผ.อ.สบน.ระบุ
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณการลงทุนไว้ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต โดยเห็นว่าเครดิตของประเทศในช่วงนี้ยังดีอยู่ หากไม่กู้เงินในช่วงนี้และไปรอให้เครดิตของประเทศตกลงไปมากกว่านี้จะส่งผลให้การกู้เงินทำได้โดยยาก ประกอบกับต้นทุนการกู้เงินโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยจะยิ่งสูงขึ้น