นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เตรียมเรียกเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม หลังลดการจัดเก็บเพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ในช่วงเดือนนี้จะไม่มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ
การพิจารณาเรียกเก็บเงินเช้ากองทุนน้ำมันฯ จะต้องรอดูทิศทางราคาน้ำมันโลก โดยจะเก็บเพิ่มในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงบ้างแล้ว โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง 2 ดอลลาร์/บาร์เรล มาอยู่ที่ประมาณ 56 ดอลลาร์/บาร์เรล
ด้านนายดีเดีย ฮูสซิน ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงและการตลาด ทบวงพลังงานโลก(ไออีเอ) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มอีกลิตรละ 2 บาทจะเป็นผลดีทำให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพเพิ่ม เพราะในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ใช้มาตรการภาษี เพื่อส่งผลทางด้านจิตวิทยา ทำให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่การใช้มาตรการภาษีอาจไม่เพียงพอทางรัฐบาลไทยควรส่งสัญญาณเรื่องการประหยัดพลังงานให้ประชาชนร่วมกันประหยัดมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้การใช้พลังงานลดลงแล้วยังจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะร่วมกับไออีเอจัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการหัวข้อเรื่อง "การบริหารจัดการสภาวะวิกฤติด้านพลังงาน" เพื่อหาแนวทางการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทยไว้รองรับกรณีเกิดวิกฤติทางด้านพลังงาน เช่น การขาดแคลนน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีการนำเข้าสูงถึง 89% หรือคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยทางไออีเอจะจำลองสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานรูปแบบต่างๆ และมีการทำแนวทางแก้ปัญหา เพื่อจะจัดทำเป็นแผนปฎิบัติการสำหรับประเทศไทยในอนาคต
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแผนปฎิบัติการรองรับวิกฤติการณ์การขาดแคลนพลังงานอย่างชัดเจน เพียงแต่มีความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในอาเซียน โดยหากประเทศใดขาดแคลนน้ำมันมากกว่า 10% ของความต้องการ ประเทศนั้นสามารถร้องขอประเทศสมาชิกอาเซียนในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาตามความสมัครใจได้ อย่างไรก็ตามไออีเอมองว่าการเข้ามาจัดทำแผนร่วมกับประเทศไทยในครั้งนี้อาจพัฒนาไปสู่แผนปฎิการในอาเซียนในอนาคต
นายดีเดีย กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไออีเอจัดนอกกลุ่มสมาชิกประเทศอุตสาหกรรม 28 ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มไออีเอได้มีมาตรการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากประเทศหนึ่งประเทศใดมีความต้องการน้ำมันฉุกเฉิน เช่น กรณีเกิดเฮอริเคนในสหัฐ และมีข้อตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลซึ่งกัน ซึ่งการร่วมมือกับไทย เนื่องจากมีการจัดการพลังงานที่ดีหลายด้าน และเป็นแกนนำในสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้น้ำมันในปริมาณสูง มีประชากรใกล้เคียงอินเดีย แต่ความต้องการใช้น้ำมันมากกว่า ดังนั้นการทำแผนปฏิบัตการวิกฤติพลังงานจะนำไปส่าความร่วมมือในอาเซียนในอนาคตได้
ขณะที่นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สมาชิกไออีเอจะต้องมีสำรองน้ำมันประมาณ 90 วัน แต่ในส่วนของประเทศไทยมีสำรองน้ำมันเชิงกฎหมาย และสำรองเพื่อการจำหน่ายของภาคเอกชนเพียง 45 วันเท่านั้น จึงเตรียมที่จะพูดคุยกับทางไออีเอว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตจะนำเรื่องพลังงานทดแทน เช่น เอ็นจีวี แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล มาเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณสำรอง เพราะไทยให้ความสำคัญเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น
ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันของไทย 70 ล้านลิตร/วัน ในส่วนนี้เป็นพลังงานทดแทน ทั้งแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล 2.8 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 4% แต่ประเทศไทยยังไม่มีแผนเพิ่มสต็อกน้ำมันเป็น 90 วัน เพราะมีต้นทุนในการสต็อกสูงมาก