ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดกนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% แต่หนีไม่พ้นเจอกับดักสภาพคล่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2009 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาที่ 1.00% ซึ่งมองว่าน่าจะยังคงมีพื้นที่และเหตุผลมากพอให้สามารถดำเนินการได้ เพราะนอกจากจะดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมแล้ว ยังส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ผลสัมฤทธิ์จากการเลือกลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจจะมีน้อย เนื่องจากในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงมีอยู่สูงในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและความจำเป็นต้องรักษาผลประกอบการหรือมาร์จิ้นไว้คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยตามทั้งสองขา คือดอกเบี้ยกู้และดอกเบี้ยฝาก แต่หากลดดอกกู้ก็ไม่ได้หมายความว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากขึ้น เพราะในยามที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการสินเชื่อก็ย่อมชะลอตัวเช่นกัน

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ออมเงินโดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ออมเงินที่ไม่สะดวกจะโยกย้ายเงินออมของตนไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ ดังนั้น ก็อาจทำให้จำเป็นต้องลดการใช้จ่ายหรือประหยัดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นแล้วท้ายที่สุดกลายเป็นว่าภาคเอกชนเกิดชะลอการใช้จ่าย หรือประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้มีข้อจำกัด

ดังนั้น ประเด็นสำคัญยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิผลของนโยบายและการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่สำคัญว่า กนง.หรือ ธปท. ควรจะหยิบยกประเด็นกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขยายขอบเขตด้านการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหรือการอัดฉีดสภาพคล่องไปสู่มือของภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนด้วยช่องทางที่หลากหลายหรือกว้างขวางมากขึ้นกว่าการพึ่งพาเพียงช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลักเช่นในปัจจุบัน

แน่นอนว่า ประเด็นคำถามนี้ ธปท.คงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความต้องการที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคเอกชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงผ่านช่องทางใหม่ที่ครอบคลุมและเข้าถึงภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจได้มากกว่าแบบดั้งเดิมที่อาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก กับความสามารถในการรับความเสี่ยงภายใต้กรอบของกฎหมายที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ว่า อะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน หรือจุดสมดุลของสองสิ่งนี้อยู่ที่ตรงไหน ส่วนอีกทางเลือกหนึ่ง หาก กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% อาจเป็นเพราะ กนง. มองว่าสภาวะเลวร้ายที่สุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่แม้เบาบางในระยะอันใกล้นี้ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินบางส่วนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้ ก็อาจมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางนี้ ย่อมหมายความว่า บทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ คงจะตกอยู่ที่การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่รอการอนุมัติจากสภาฯ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยให้เลวร้ายลงไปอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กนง.กำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายอีกครั้งในการตัดสินใจนโยบายการเงินในครั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยลงอีก ผลสัมฤทธิ์จากนโยบายดังกล่าวต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยคงจะมีจำกัด เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงยังคงอาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำงานตามกลไกปกติ

ขณะที่ ระบบการค้ำประกันสินเชื่อที่ทางการนำมาใช้ผ่านการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ยังมีขอบเขตของธุรกรรมที่ค่อนข้างจำกัดและอาจไม่สามารถรองรับความต้องการของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศได้อย่างเต็มที่

การขาดช่องทางในการกระจายความเสี่ยงนี้ จึงทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเดียวกันอย่างทันท่วงที ระบบเศรษฐกิจจึงถูกผลักดันให้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินด้อยประสิทธิภาพลง

ท่ามกลางภาวะกับดักสภาพคล่องในลักษณะดังกล่าว ธปท.อาจจะไม่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินนโยบายการเงินไปได้มากเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพราะภายใต้กรอบของกฎหมายแล้ว การเข้าซื้อตราสารของ ธปท.จะถูกจำกัดไว้เฉพาะตราสารที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นตราสารที่ออกหรือค้ำประกันโดยภาครัฐเป็นส่วนใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ