บอร์ดสภาพัฒน์สั่ง กฟน.-รฟท.ทบทวนแผนลงทุนเหตุใช้ข้อมูลเก่าปี 44

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2009 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ขอให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟท.) ทบทวนแผนลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คส์มูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองของรัฐบาล เนื่องจากใช้ข้อมูลสมมติฐานตั้งแต่ปี 44

"บอร์ดสภาพัฒน์ได้ให้เวลา 6 เดือนเพื่อให้กลับไปทบทวน" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

สำหรับโครงการของ กฟน.ใช้สมมติฐานประมาณการรายรับของโครงการ โดยเฉพาะมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไฟฟ้าดับในเขตจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน.ที่นำการขยายตัวของธุรกิจและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมาประกอบการพิจารณาแผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน ใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี ระหว่างปี 52-59 วงเงินลงทุน 6,057.15 ล้านบาท

กฟน.เสนอใช้เงินกู้ 3,900 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน.เอง 2,157.15 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าจากสายอากาศเป็นใต้ดินใน 2 โครงการ คือ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 10.1 กม. เริ่มจากถนนรัชดาภิเษก จากแยกถนนพระราม 9 -ถนนพระราม 4 และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 15.3 กม.

"บอร์ดสภาพัฒน์เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีประโยชน์ในการรองรับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในย่านธุรกิจได้ แต่การจัดทำข้อสมมติฐานต่างๆ ของโครงการของ กฟน.เป็นผลการศึกษาที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2544 จึงต้องมีการคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนของแผนงานใหม่" นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดสภาพัฒน์ยังให้ข้อเสนอแนะแก่ กฟน.ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค เช่น บมจ.ทีโอที ลงทุนนำสายไฟและสายโทรศัพท์ลงใต้ดิน เนื่องจากบนถนนสีลมสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วแต่ไม่ได้นำสายโทรศัพท์ลงใต้ดิน จึงทำให้ทัศนียภาพยังไม่สวยงาม รวมทั้งให้ร่วมกับ กทม.พิจารณาพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ถนนหน้าพระลาน และถนนข้าวสาร เพื่อนำสายไฟลงใต้ดินด้วย

สำหรับโครงการดังกล่าวของ กฟน.เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานทั้งหมดที่จะทำ 180 กม. แบ่งเป็น โครงการระยะที่ 1 ปี 51-64 ระยะ 119 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการปทุมวัน-จิตรลดา-พญาไท, โครงการพระราม 3 และโครงการนนทรี ส่วนระยะที่ 2 อีก 61 กม. ตั้งแต่ปี 55-65

ส่วนโครงการของ รฟท.เป็นการปรับปรุงสายทางระยะที่ 5-6 รวม 586 กม.วงเงิน 15,287 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะที่ 5 จากสถานีชุมทางแก่งคอย-แก่งเสือเต้น, สถานีสุรนารายณ์-ชุมทางบัวใหญ่ และสถานีถนนจิระ-ชุมทางบัวใหญ่ รวม 308 กม. วงเงิน 8,508 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 6 ช่วงชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย 278 กม. วงเงิน 6,779 ล้านบาท เป็นการลงทุน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 52 เนื่องจากรางเก่ามีอายุใช้งานนานถึง 30 ปี ประกอบกับมีปัญหาดินทรุดและโคลนถล่ม

"บอร์ดสภาพัฒน์ได้หารือเรื่องนี้แต่ยังไม่อนุมัติ พร้อมให้(รฟท.)กลับไปจัดทำแผนธุรกิจมาเสนอภายใน 6 เดือน เนื่องจากแผนงานที่เสนอมาจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 44 เช่นกัน" นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดสภาพัฒน์ยังขอให้ รฟท.ดูภาพรวมว่าเมื่อได้ลงทุนปรับปรุงรางแล้วจะมีแผนเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและการใช้บริการบรรทุกสินค้าได้เท่าใด เนื่องจากแนวโน้มในปัจจุบันคนใช้บริการรถไฟลดลง และหันไปใช้บริการเครื่องบินราคาประหยัดและการเดินทางรถยนต์มากขึ้น นอกจากนั้นให้พิจารณาแผนการปรับปรุงโครงสร้างของ รฟท.ก่อนว่าจะจัดการองค์กรอย่างไร

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า แม้แผนลงทุนที่ รฟท.เสนอมาจะบรรจุอยู่ในโครงการลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของรัฐบาล แต่รัฐวิสาหกิจก็ต้องทำให้ถูกกฏระเบียบ เพราะเมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ 53 จะได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้ทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ