ธปท.ประเมิน Q2/52 กำไรแบงก์ไม่สูงมาก - NPL ยังไม่น่าห่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2009 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองว่าแนวโน้มการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 2/52 จะออกมาไม่สูง เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อจะยังไม่ฟื้นตัวจากที่ชะลอตัวในไตรมาส 1/52 ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อที่ลดลง ที่เป็นผลกระทบมาการหดตัวของเศรษฐกิจ แต่ระดับของหนี้เสียที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะธนาคารพาณิชย์ยังสามารถจัดการได้ดีและมีเสถียรภาพ

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่หดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 51 ส่งผลให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปีนี้ชะลอตัว และคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมลง แต่ระบบธนาคารยังมีเสถียรภาพดี

ในไตรมาส 2/52 การส่งออกและการลงทุนยังอ่อนตัว แม้จะเห็นปัจจัยบวกในบางกลุ่ม และภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นผ่านมาตรการด้านการคลัง แต่หากมองในส่วนของความพร้อมที่แบงก์จะปล่อยสินเชื่อยังมีมาก เพราะสภาพคล่องส่วนเกินยังมีพอ แต่ความต้องการสินเชื่อกลับไม่มี

"ความต้องการสินเชื่อไม่มี เพราะไม่มีการลงทุนขยายกิจการ ผลจากกำลังซื้อหดหาย และกำลังผลิตส่วนเกินยังมีอยู่ การค้าระหว่างประเทศหดตัว"นางสาวนวพร กล่าว

ธปท.ระบุว่า ไตรมาส 1/52 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 5.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงมากเทียบกับสิ้นปี 51 ที่ขยายตัว 11.4% โดยสินเชื่อภาคธุรกิจชะลอตัวลงมากเหลือ 3.2% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 สินเชื่อรวมหดตัว 2.6% ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่หดตัว 3.7% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 0.8%

ด้านเงินฝากขยายตัวชะลอลงเช่นกันเหลือ 4.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ลูกค้าหันไปลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) และหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อรวมการระดมเงินฝากและ B/E แล้ว อัตราการขยายตัวชะลอลงเหลือ 6.7% การที่สินเชื่อชะลอตัวมากกว่าเงินฝากส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E ลดลงมาอยู่ที่ 84.1%

นางสาวนวพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ยังไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าไตรมาสแรกจะเร่งตัวขึ้นบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนักในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤติไปทั่วโลกแบบนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามเรื่องนี้อยู่

ระบบธนาคารพาณิชย์มีแรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทั้ง NPL และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(Delinquent loan) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 51 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่หดตัวทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นทั้ง gross และ net NPL เป็น 5.5% และ 3.1% ตามลำดับ ส่วน Delinquent loan เพิ่มขึ้นเป็น 4.0% ของสินเชื่อรวม พัฒนาการด้านความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อเนื่อง

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานลดลงจากไตรมาสก่อน 1.6 พันล้านบาท จากปริมาณสินเชื่อที่ลดลงเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงในช่วงเดียวกันส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม(ROA) เพิ่มขึ้นเป็น 0.9% เมื่อประกอบกับการเพิ่มเงินกองทุน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนดีขึ้น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 14.9% โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1) 11.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ