"โอฬาร"จวกนโยบายขึ้นภาษีดึงเงินจากกระเป๋าชาวบ้านช่วงศก.ฟุบส่งผลฟื้นยาก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 21, 2009 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการผิดพลาด คือ เมื่อรัฐสภาผ่านงบประมาณกลางปี 1.16 แสนล้านบาทและมีการแจกเงินให้ประชาชน แต่หลังจากนั้นเพียง 6 สัปดาห์กลับการประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบ สุรา เบียร์ และ น้ำมัน เพื่อหาเงินจากประชาชน 6.5 หมื่นล้านบาท เป็นการเอาเงินใส่กระเป๋าซ้ายแล้วดึงออกจากกระเป๋าขวา

"เป็นผลให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการที่ยอดส่งออกและทองเที่ยวลดลงมากได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย ซึ่งทำให้จำนวนผู้ว่างงานที่คาดว่าจะมีถึง 1.2ล้านคน ไม่ได้ลดลงเลย

ถ้าไม่ขึ้นอัตราภาษี และมีเฉพาะงบกลางปีอย่างเดียวจะช่วยให้คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 แสนคน จึงมีคำถามว่าเมื่อรัฐบาลทำนโยบายผิดพลาดแล้วควรยกเลิกการขึ้นภาษีสรรพสามิตหรือไม่อย่างไร"นายโอฬาร บรรยายในหัวข้อ“วิกฤตเศรษฐกิจไทย ปัญหาและทางออก"ในงานสัมมนาระดมสมอง"ก่อนเศรษฐกิจล่มสลาย"ของส.ส.พรรคเพื่อไทย

นายโอฬาร กล่าวอีกว่า ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกอุตริเอาเงินเข้ากระเป๋าซ้ายแล้วล้วงคืนจากกระเป๋าขวา เนื่องจากจะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเหลือไม่มาก จริงอยู่จุดประสงค์ของการขึ้นภาษีเพื่อลดการดื่มสุราลงก็จริง หรือทำให้คนใช้น้ำมันลดลง แต่ประเด็นก็คือต้องทำเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ไม่ใช่ทำระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างประเทศจีนมีกระบวนการอนุมัติงบประมาณเพิ่มรายจ่ายรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วและไม่มีการเพิ่มภาษี สามารถนำไปใช้ได้ทันทีเพราะมีพรรคการเมืองเดียวทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพ โดยมีการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในเพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลง ในลักษณะทฤษฎีของเคนส์

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องดูสาเหตุให้ชัดเจนและตรงจุด ผสมผสานนโยบายด้านการเงินและการคลัง ด้วยการเพิ่มรายจ่ายรัฐบาลและไม่เพิ่มภาษีให้เป็นภาระกับประชาชน ใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อชดเชยการลดลงของการส่งออก นอกจากนี้ควรมีการใช้นโยบายค่าเงินอ่อนที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้ได้ผลมาแล้ว ขณะเดียวกันตอนนี้ต้องมีการเอาทฤษฎีเคนส์มาปรับปรุงในลักษณะแบบเคนส์เชี่ยนพลัส คือ การให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอกชนเพื่อนำไปซื้อของชดเชยยอดส่งออกที่ตกต่ำ

นายโอฬาร เชื่อว่า ในอนาคตจีนจะฟื้นตัวได้ก่อน ตามด้วยเกาหลีใต้ ส่วนไทยขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าทำถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนทั้งจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะดำเนินนโยบายค่าเงินอย่างไร เพื่อช่วยเพิ่มรายได้เงินบาทให้กับภาคการส่งอกและท่องเที่ยวอันจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยส่วนตัวเสนอว่าต้องบริหารจัดการค่าเงินบาทให้ได้ประมาณ 36.50 บาท/ดอลลาร์ในเดือน ก.ค.และ ส.ค.ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีต้องทำให้ได้ 37.00 บาท/ดอลลาร์

“ถ้าไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องแบบครบองค์ประกอบจีดีพีจะติดลบ 4% และคนจะตกงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน แต่ถ้าทำได้ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าถ้ารัฐบาลสมชายยังอยู่ต่อและทำตามนโยบายได้ เราก็จะแก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง คือ จีดีพีจะติดลบ2% และคนจะตกงานประมาณ 6 แสนคน จะสามารถฟื้นตัวในนิยามที่ผมต้องการ คือ ระดับจีดีพีและการจ้างงานจะกลับไปสู่ในระดับเมื่อเดือนส.ค.51 ก่อนที่วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐจะระเบิดออกมา ตราบใดที่ไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ได้"นายโอฬาร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ