(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์เผยจีดีพี Q1/52 หดตัว 7.1% คาดทั้งปี 52 ติดลบ 3.5 ถึง 2.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 1/52 ติดลบ 7.1% เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในไตรมาส 4/52 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการส่งออก

พร้อมกันนั้น สภาพัฒน์ยังได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 52 มาเป็นติดลบ 3.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะติดลบ -1% ถึง 0% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 จะติดลบน้อยลงหากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติ ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดๆ เข้ามาซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในเดือนเม.ย.52 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าจีดีพีอาจจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52

"ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ รัฐบาลเดินหน้าลงทุนได้ตามแผน ก็เชื่อว่าในไตรมาส 2/52 เศรษฐกิจจะติดลบน้อยกว่าไตรมาสแรก และน่าจะเริ่มฟื้นเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4"นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว

*จีดีพี Q1/52 หดตัวหนักจากผลกระทบศก.โลกทรุดรุนแรง

เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/52 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/52 และเป็นการหดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่ง IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกหดตัว 1.3% และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการของไทยหดตัวมากกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน

พร้อมกันนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวจากการการส่งออกและการผลิตหดตัว ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีการยกเลิกการจ้างงานจำนวนมาก มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนโดยรวมลดการลงทุนลง เนื่องจากการที่ยังขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก และความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังถดถอย ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสถาบันการเงินระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ และบรรยากาศการระดมทุนในตลาดทุนยังไม่จูงใจ

*แนวโน้มศก.ช่วงที่เหลือปี 52 มีลุ้นฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะยังหดตัวต่อเนื่องช่วงครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 2/52 ยังอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องและส่งผลต่อการส่งออกและการผลิตในหลายสาขาให้หดตัวตามไปด้วยโดยกำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่สูง ไม่จูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน แต่การคาดการณ์หดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 จะลดความรุนแรงลงกว่าไตรมาสแรก และหากเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาสมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พยุงไม่ให้การใช้จ่ายประชาชนลดลงมาก ขระที่มีการเร่งรัดการใช้จ่ายและโครงการภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้นในไตรมาส 2/52 โดยที่การหดตัวการค้าระหว่างประเทศจะลดความรุนแรงลงช่วงปลายไตรมาส ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ของปี 51 ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก ดังนั้น ทางเทคนิคจะทำให้อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ไม่รุนแรงนัก

และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และช่วยให้การหดตัวของทั้งปีไม่รุนแรงมากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มรับผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐคลี่คลายลง

นอกจากนี้การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการจัดทำงบกลางปี 52 วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท เริ่มมีการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ มี.ค. ซึ่งการดำเนินโครงการต่าง ๆ และการเบิกจ่ายเงินมีความคืบหน้ามาก ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น พยุงไม่ให้การใช้จ่ายครัวเรือนหดตัว มีมาตรการดูแลผู้ว่างงาน และรักษาอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน

ประกอบการ รัฐบาลยังคงเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปกติของปี 52 ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 94% มีการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนสำคัญภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 มีมาตรการพยุงยาคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ โดยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ มีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อและขยายสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยที่ ธปท. ยังดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ช่วยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจและปรับตัวช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไม่เกิน 60 ดอลลาร์/บาเรล จึงคาดว่าจะไม่เกิดภาวะชะงักงันของภาคการผลิต

"เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตั้งแต่ครึ่งปีหลัง จากผลของแรงกระตุ้นของงบกลางปี 52 ซึ่งจะช่วยให้ปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 จีดีพีจะขยับเป็นติดลบน้อยลง การบริโภคจะกระเตื้องขึ้น เราคาดว่าการปรับตัวของสินค้าคงคลังจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะเห็นสัญญาณการเพิ่มกำลังการผลิตจากความเชื่อมั่นของเอกชนที่เพิ่มขึ้น ตลาดทุนจะเริ่มกลับมามีชีวิตชีวา และมีการไหลเข้าของนักลงทุนต่างประเทศ" นายอำพน กล่าว

*แนะรัฐเร่งบรรเทาผลกระทบวิกฤติศก.โลก-ดูแลแรงงานและเกษตรกร

สภาพัฒน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และมีความเปราะบาง โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้ช่วงต้นปี การค้าโลกลดลงรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกหลายประเทศรวมทั้งไทย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดและดูแลการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

รัฐบาลต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 และงบกลางปีวงเงิน 1.167 แสนล้านบาท และเร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณประจำปี 53 มีการเตรียมความพร้อมของโครงการที่จะสามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้ทันทีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 53 (ต.ค.-ธ.ค.52)ควบคู่ไปกับการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐสำคัญที่อยู่ในกรอบงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ให้คืบหน้าอย่างจริงจัง

พร้อมกันนั้น จะต้องเร่งรัดดำเนินงานตามมาตรการดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ทั้งในเรื่องการดูแลให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ มีโอกาสในการหางานใหม่ รวมถึงดูแลปรับปรุงกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งด้านการแทรกแซงราคา และการพัฒนาภาคเกษตรอย่างครบวงจร ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

และ ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย สนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ รวมทั้งดูแลการประกันสินเชื่อและการสนับสนุนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ