ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คงเป้า GDP ปี 52 หดตัว 3.5-6.0% มีปัจจัยเสี่ยงใน-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 52 ยังคงตามกรอบเดิมที่หดตัว 3.5-6.0% โดยกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ 4.5% ส่วนปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจไทย อาจขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่าง 2.0-3.0%

ในปีนี้คาดว่าการบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัว 1.5-2.4% การลงทุนหดตัว 6.9-9.4% มูลค่าการส่งออกหดตัวประมาณ 14.5-19.0% นับเป็นการหดตัวรายปีที่หนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การนำเข้าอาจหดตัวลง 19.0-24.0% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 8,100-8,900 ล้านดอลลบาร์

การนำเข้าที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออก จากผลของการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ไทยกลับมามีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในช่วง H2/52 แต่ทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังเกินดุล 7,500-8,500 ล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0-1% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5-1% โดยจำนวนผู้ว่างงาน จะอยู่ที่ 9 แสน -1.1 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.4-3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจากการรายงานของสภาพัฒน์วันนี้ที่ระบุว่าจีดีพีไตรมาส 1/52 หดตัวสูงถึง 7.1% เป็นสภาวะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี และน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ยังคงมีความเปราะบาง

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/52 แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น แต่ยังเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน ขณะที่ด้านเศรษฐกิจในประเทศคาดว่าการเร่งเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การแจกเช็คช่วยชาติ จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในไตรมาสนี้ และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนลงได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียอย่างหนักของภาคการท่องเที่ยวตั้งแต่การยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยของชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องมาถึงแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คาดว่าปัจจัยลบทั้งสองนี้จะมีผลให้จีดีพีลดลงไม่น้อยกว่า 3% แม้บทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสนับสนุนการจ่ายของผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น มีโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานและการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่ผู้ที่ตกงานและชะลอการเลิกจ้าง แต่ยังคาดว่าจีดีพีไตรมาส 2/52 อาจยังคงหดตัว 5.6-7.0%

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจีดีพีในไตรมาส 3/52 น่าจะหดตัวในอัตราชะลอลง และหากการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลไม่สะดุด อัตราการขยายตัวของจีดีพีน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/ 52

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจหลายประเทศน่าจะช่วยให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งถ้าการฟื้นตัวมีความต่อเนื่องก็จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/52ได้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ บทบาทภาครัฐของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังยังคงมีความสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/52 ต่อเนื่องถึงปี 53 ในยามที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาจากการบริโภคของรัฐบาล อาจจะอ่อนแรงลงในช่วงไตรมาส 4/52 เนื่องจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ซึ่งเน้นการอัดฉีดเงินสู่ประชาชนผ่านโครงการช่วยเหลือเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย น่าจะค่อยๆ สิ้นสุดไป แต่การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเปลี่ยนมาสู่การลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี 55 มูลค่า 1.431 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 53-55 และหากดำเนินการตามกรอบเวลาจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ธุรกิจที่เกี่ยว

แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังหลายด้านที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, พัฒนาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ, ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจโลกย้อนกลับไปสู่สภาวะเงินเฟ้อสูงเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของผู้บริโภค และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ขณะที่การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในระยะสั้นของผู้ส่งออก

ส่วนปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเตรียมดำเนินแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความอ่อนไหว อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าได้ล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ข้อจำกัดด้านงบประมาณเริ่มมีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องเสนอร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบต่อสภาหลายฉบับในการผลักดันแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาสนับสนุนการใช้จ่ายและโครงการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ