นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เลือกให้ประเทศไทยมีสิทธิเข้าร่วมโครงการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำพิเศษระยะยาวในโครงการที่ยูเอ็นร่วมกับธนาคารโลกจัดตั้งโครงการกองทุนพัฒนาสีเขียว(Green Technology Fund)วงเงินประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่องทั้งการพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ด้านการอนุรักษ์พลังงานและขนส่งมวลชน
กองทุนดังกล่าวจะให้กู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ระยะเวลาคืนหนี้ยาวให้กู้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)และเอกชนที่สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอเงินกู้ดังกล่าวเพื่อลงทุนด้านพลังงานทดแทนได้
เบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานต่าง ๆ ของโครงการกองทุนพัฒนาสีเขียว โดยจะเป็นผู้พิจารณาโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ ก่อนจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และ ธนาคารโลกพิจารณาต่อไป
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับทบวงพลังงานโลก(IEA)หารือเตรียมความพร้อมจัดการสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน โดยเฉพาะหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ปริมาณน้ำมันดิบจะต้องหายไปจากตลาดสูงถึง 7 ล้านบาร์เรล/วัน(หรือประมาณ 10% จากการใช้ทั่วโลกที่มีประมาณ 83-85 บาร์เรล/วัน)รวมทั้งในเหตุฉุกเฉินที่ก๊าซธรรมชาติในไทยไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า ทาง IEA พร้อมจะให้การช่วยเหลือด้วยการนำปริมาณสำรองน้ำมัน จากชาติสมาชิกของ IEA กลับเข้าสู่ตลาดโลกไม่น้อยกว่าวันละ 4 ล้านบาร์เรล คาดจะให้ความช่วยเหลือได้ถึง 1 ปี
ทั้งนี้ IEA ได้แนะนำให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน เช่น การประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะรัฐต่อรัฐ(G to G)ตามข้อตกลงความร่วมมือพลังงานอาเซียนภายใต้กรอบ APSA ซึ่งเป็นข้อตกลงให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ในกรณีที่พลังงานขาดแคลนมากเกินกว่า 10% เป็นต้น และควรการขอความร่วมมือไปยังกลุ่มสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อทำการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบสถานการณ์ และตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานเพื่อร่วมมือร่วมใจ แก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริงได้