ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งแกร่ง หลังดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐพุ่งเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 27, 2009 07:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เยน และฟรังค์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่ปรับตัวลดลงในสหรัฐทำให้สกุลเงินดอลลาร์ลดแรงบวกเมื่อเทียบกับเงินปอนด์

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 94.960 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 94.840 เยน/ดอลลาร์ (เหตุที่ต้องเทียบกับระดับของวันศุกร์เพราะวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กปิดทำการ เนื่องในวันเมมโมเรียล เดย์) และพุ่งขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0843 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0825 ฟรังค์/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.19% แตะที่ 1.3979 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.4005 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินปอนด์ขยับขึ้น 0.03% แตะที่ 1.5921 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.5917 ดอลลาร์/ปอนด์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.55% แตะที่ 0.7862 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันศุกร์ที่ 0.7819 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.61% แตะระดับ 0.6243 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6205 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

อเล็กซานเดอร์ โคช นักวิเคราะห์จากบริษัท UniCredit กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงซื้อส่งเข้าหนุนหลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 54.9 จุดในเดือนพ.ค. จากเดือนเม.ย.ที่ 40.8 จุด ซึ่งเป็นสถิติที่พุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีพ.ศ.2546

แต่ดอลลาร์สหรัฐลดแรงบวกเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ หลังจากดัชนีราคาบ้านของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส-ชิลเลอร์บ่งชี้ว่า ราคาบ้านเดี่ยวในสหรัฐประจำเดือนมี.ค.ร่วงลง 18.7% จากปีก่อน ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เขตเมืองของสหรัฐลดลง 2.2% ในเดือนมี.ค.

ส่วนค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากสำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดการส่งออกและยอดการใช้จ่ายของบริษัทเอกชนในไตรมาสแรกร่วงลง ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงมากที่สุด โดยยอดการส่งออกดิ่งลง 9.7% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนร่วงลง 7.9%

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีหดตัวลง 3.8%ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เยอรมนีรวบรวมข้อมูลในปีพ.ศ. 2513 ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งพึ่งพาการส่งออกได้รับผลกระทบตามไปด้วย และบีบให้บริษัทเอกชนต้องลดผลผลิตและปลดพนักงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ