"มาร์ค ฟาเบอร์"เตือนสหรัฐอาจเผชิญเงินเฟ้อรุนแรงหากเฟดไม่มีแผนขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 27, 2009 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาร์ค ฟาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อดังระดับโลกและเป็นผู้ตีพิมพ์นิตยสารการลงทุน Gloom, Boom and Doom Report คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หรือ hyperinflation เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

"ผมมั่นใจ 100% ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ hyperinflation นอกจากนี้ สหรัฐยังเผชิญกับปัญหาหนี้สินในภาครัฐที่สูงขึ้นอย่างมาก เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เฟดก็ควรขึ้นดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมาเฟดไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น จึงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจจะสูงขึ้นใกล้เคียงกับเงินเฟ้อในซิมบับเว่ โดยเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อในซิมบับเว่สูงถึง 231 ล้านเปอร์เซนต์" ฟาเบอร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก

ฟาเบอร์ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่กลับมาเฟื่องฟูเหมือนในปีพ.ศ.2549 และ 2550 แม้เศรษฐกิจสหรัฐดีดตัวขึ้นจากภาวะถดถอยมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตาม ส่วนตลาดหุ้นในสหรัฐคาดว่าจะไม่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดระดับใหม่ เพราะยังมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาอีกมาก และกล่าวว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในภาวะ "overbought" หรือมีแรงซื้อมากเกินไป และราคายังไม่ถูกลง

ทั้งนี้ ฟาเบอร์กล่าวว่า เขายังคงต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียและพันธบัตรสหรัฐ และกล่าวด้วยว่าตลาดหุ้นโตเกียวอาจก้าวขึ้นเป็นตลาดหุ้นที่น่าลงทุน หรือ outperform มากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในระยะเวลา 5 ปี

"เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก เอเชียยังคงเป็นตลาดหุ้นที่น่าดึงดูดใจที่สุด" ฟาเบอร์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ชาร์ลส์ พลอสเซอร์ ผู้ว่าการเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐจะพุ่งขึ้น 2.5% ในปีพ.ศ.2554 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของเฟด และเตือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้สหรัฐเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อร้ายแรง

ในการประชุมครั้งล่าสุดของเฟดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เฟดระกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีพ.ศ.2497 โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาะถดถอยนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีพ.ศ.2550 ซึ่งเป็นเหตุให้ตัวเลขว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5 ล้านคน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ