นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน พร้อมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาแล้ว โดยระยะเวลาจะเป็นเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง
"ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะนำเรื่องภาษีที่ดิน เข้า ครม.วันที่ 2 มิ.ย.นี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.คลัง แต่ทางสศค. ได้มีการชี้แจงและรายงานเรื่องนี้ต่อท่านมาโดยตลอดแล้ว ดังนั้นคงขึ้นอยู่กับความพร้อมของเวลา แต่เชื่อว่าไม่น่าจะช้า"นายสมชัย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ สศค.ยังอยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นจากประชาชนในทุกภาค เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยเริ่มดำเนินการมาจาก สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี อุบลราชธานี และ กรุงเทพฯ โดยมีกำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.52 โดยจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ นำมาปรับปรุงแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ได้ในชั้นกรรมาธิการ หลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า เท่าที่ได้ระดมความคิดเห็นจากประชาชนมาส่วนหนึ่งตามแผน พบว่าประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีจากภาษีโรงเรือนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยังคงให้ อปท. ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีเช่นเดิม ไม่ได้ให้เป็นหน่วยงานกลางหรือกรมสรรพสามิต เป็นผู้เก็บภาษีดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามีประชาชนบางส่วนยังคัดค้านการเก็บภาษีนี้
"ที่เราไประดมความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเก็บภาษีนี้ มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย ในบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ปัญหา ส่วนรอบนี้ที่ระดมความคิดเห็นใหม่ก็จะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจกันมากกว่า น่าจะเสร็จ ก.ย.นี้...ภาษีที่ดิน เรายังให้ท้องถิ่นเก็บเหมือนเดิม เราไม่ได้ให้กรมสรรพากรหรือกรมสรรพสามิตเก็บแทน เพราะรัฐไม่ควรทำเอง ก็ให้ อปท. อบต.เก็บตามเดิม" ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเพดานอัตราภาษีที่จัดเก็บไว้ 3 อัตรา คือ อัตราทั่วไปสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เสียอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน, ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เสียอัตราไม่เกิน 0.1% และ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสียอัตราไม่เกิน 0.05%
ส่วนกรณีพื้นที่ว่างเปล่าจะจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่การจัดเก็บภาษีนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ทุก 4 ปี