เอกชนเสนอผ่าน กรอ.แยกค่าเงินบาท 2 ตลาด,ยกเลิก E-Auction โครงการใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2009 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) ภาคเอกชนเสนอให้แยกระบบค่าเงินบาทให้เป็น 2 ตลาด เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถทำตลาดแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยแบ่งเป็นตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทสำหรับผู้ส่งออก และตลาดสำหรับตลาดทุน ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รับที่จะไปศึกษาในข้อกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ในเรื่องสภาพคล่องนั้น ได้รับทราบว่าสินเชื่อมูลค่า 5 พันล้านบาทที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวขอไปจะได้รับภายใน ก.ค.-ส.ค.นี้ และสินเชื่อที่จะปล่อยให้แก่ SMEs ทั่วไปอีกประมาณ 6 พันล้านบาทนั้น คาดว่าจะได้รับในปีนี้ส่วนหนึ่งก่อนประมาณ 3-4 พันล้านบาท

ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank) คาดว่าภายในปีนี้จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ราว 2 หมื่นล้านบาท

นายสันติ ยังให้ความเชื่อมั่นกับเสถียรภาพของรัฐบาลและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเข้าใจดีถึงการทำงานของรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมืองซึ่งย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

นอกจากนั้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี(นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี) กล่าวว่า ที่ประชุม กรอ.ได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งพบว่าบริษัทเอกชนกว่า 60 ราย มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท ต่างชะลอโครงการลงทุนออกไป แม้ว่าจะเป็นโครงการลงทุนที่ผ่านการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ไปแล้วก็ตาม รวมไปถึงโครงการใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาอีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปิโตรเคมี ก็ต่างชะลอไปเช่นกัน

เรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม กรอ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.), กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้ว่าราชการจงหวัดระยอง ไปหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปจากปัญหาที่ภาคเอกชนชะลอโครงการลงทุน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐบาลทบทวนระบบการประมูลแบบ E-Auction เนื่องจากเห็นว่าระบบดังกล่าวตั้งแต่เริ่มขึ้นในปี 49 สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นยังไม่มีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นว่าไม่สามารถป้องกันระบบการฮั้วประมูลได้ จึงขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การใช้ระบบดังกล่าวใหม่เพราะมองว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้กับโครงการขนาดใหญ่ แต่เหมาะกับโครงการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ทั่วไปมากกว่า

ภาคเอกชนเสนอทางเลือกไว้ 3 ด้าน คือ การแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการเปิดประมูลในระบบ E-Auction หรือให้ยกเลิกระบบ E-Auction ไปเลย หรือหากยังมีระบบนี้อยู่ ก็ให้ใช้ประมูลเฉพาะกับวัสดุครุภัณฑ์ทั่วไปเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และนำกลับมาเสนอที่ประชุมในอีก 2 เดือนข้างหน้า ขณะที่กรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่าการยกเลิกระบบดังกล่าวอาจทำได้ยาก แต่รับจะนำข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณา



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ