นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมืองต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โดยพบว่านักธุรกิจกังวลปัญหาด้านการเมืองจะเป็นตัวกดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้
"ตอนนี้นักธุรกิจไทยกลัวปัจจัยภายในประเทศมากกว่าภายนอก ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและต่อเนื่องหลายปี กระทบต่อธุรกิจร้ายแรงกว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ย เอกชนมองว่าเศรษฐกิจโลกขณะนี้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและกำลังฟื้นตัวแบบตัวยู ดังนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับทิศทางภายในประเทศเป็นสำคัญ" นายธนวรรธน์ กล่าว
ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว มาจากการสำรวจนักธุรกิจ 400 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 22-25 พ.ค.52 ในประเด็นผลกระทบต่อการทำธุรกิจ พบว่านักธุรกิจ 17.1% มองว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยลบอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว,ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ, ปัญหาการเงินและเศรษฐกิจโลก,ราคาวัตถุดิบสูง, ราคาน้ำมัน และ เรื่องดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน
นักธุรกิจส่วนใหญ่ยังไว้วางใจสถานการณ์การเมืองหลังเกิดเหตุรุนแรงเดือน เม.ย.ในระดับปานกลางเท่านั้น อีกทั้งยังคาดว่าหากการเมืองไม่นิ่งและยังมีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนจะทำให้การลงทุนชะลอตัว การขยายตลาดชะลอตัวและการขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มการลงทุนชะลอ รวมทั้งทำให้ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้มีโอกาสติดลบ 3-4% ส่วนปีหน้าจะเติบโตได้ 1-2% แต่หากการเมืองคลี่คลายเร็วปีนี้จะติดลบเพียง 1-2% ส่วนปีหน้าจะโตถึง 3-4%
ผลสำรวจยังระบุอีกว่าหากยังเกิดความขัดแย้งและมีการแบ่งฝ่ายชัดเจนต่อไป จะกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลมากสุด รองลงมาเป็นภาพลักษณ์ประเทศต่อสายตาชาวต่างชาติ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ความรุนแรงทางความคิดเยาวชน ผลประกอบการธุรกิจ การลงทุน ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ภาวะเศรฐกิจโดยรวม ความสามารถในการแข่งขันประเทศ สภาพจิตใจประชาชน และพฤติกรรมรุนแรงเลียนแบบจากเด็กและเยาวชน
"ปัญหาความไม่ลงรอยในพรรคร่วมรัฐบาล และการปรับครม.ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ เพราะปรับเพียงตำแหน่งเดียว และไม่เกี่ยวข้องกับทีมเศรษฐกิจ จึงไม่กระทบต่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ การตีความของศาลรัฐธรรมนูญต่อร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ที่จะนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและสำรองกองคลัง หากผ่านรัฐสภาในเดือนมิ.ย. และสามารถเบิกจ่ายได้ทันไตรมาส 3 จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นตัวเป็นบวก 0-2% ได้" นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ทุกฝ่ายยกเว้นการโต้แย้ง และวิวาทะทางการเมือง รองลงมาขอให้สื่อหยุดนำเสนอข่าวความขัดแย้ง ส่วนที่เหลือต้องการให้หลีกเลี่ยงการพูดเรื่องการเมือง และ เลิกรับฟังข่าวความขัดแย้ง