UN คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 2.6%-เอเชียหดตัว 3% ชี้เอเชียถูกกระทบหนักสุดจากวิกฤตศก.

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 28, 2009 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.5% เนื่องจากทั่วโลกยังคงเผชิญวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ยูเอ็นระบุในรายงาน ''World Economic Situation and Prospects 2009'' ว่า "กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงประเทศในเอเชียที่ได้รับผลกระทบอย่างจากภาวะการค้าทั่วโลกหดตัวลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโซนเอเชียจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ เนื่องจากการจ้างงานลดน้อยลง"

"แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ามาตรการฟื้นฟูที่ใช้ในปัจจุบันจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า แต่ยูเอ็นมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยยาวนาน หากรัฐบาลยังไม่สามารถยุติวงจรปัญหาเรื่องภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินได้" ยูเอ็นกล่าว

ยูเอ็นยังคาดการณ์ด้วยว่า ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอาจจะฉุดวอลุ่มการค้าทั่วโลกให้ทรุดตัวลงกว่า 11% ซึ่งจะเป็นสถิติที่ร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงทศวรรษที่ 1930

โจโม เควเม ซันดาราม รองเลขาธิการยูเอ็นฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลกได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและใช้นโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

"กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการณ์การเงินโลก และสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือประเทศเหล่านี้ถูกเพิกเฉยในเรื่องการให้ความช่วยเหลือ ท่านบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้คือทรัพยากรของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา "ร่อยหรอลงมาก" และแทบจะไม่มีประเทศใดยินดีให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา" ซันดารามกล่าว

นอกจากนี้ ซันดารามยังตำหนิรมว.คลังกลุ่มประเทศ G7 ที่ขาดภาวะผู้นำในการประเมินและรับมือกับวิกฤตการณ์การเงิน พร้อมกล่าวว่า "สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้กับสถานการณ์ของเรือไททานิก ในช่วงเวลานั้นกัปตันเรือไททานิกมีเวลาไม่กี่นาทีก่อนที่จะรู้ว่ามีภูเขาน้ำแข็งขวางทางอยู่ข้างหน้า แต่เราตสามารถกำหนดมาตรการป้องกันไว้หลายทาง และเราควรจะนำมาใช้เพื่อตอบสนองกับวิกฤตการณ์ให้ทันท่วงที"

ทั้งนี้ รองเลขาธิการยูเอ็นแนะนำว่า รัฐบาลควรใช้มาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และช่วยกันเพิ่มอัตราจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก สำนักข่าวเอพีรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ