องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.5% เนื่องจากทั่วโลกยังคงเผชิญวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
- สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 2.9% แตะระดับ 4.68 ล้านยูนิต จากเดือนมี.ค.ที่ 4.55 ล้านยูนิต และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.66 ล้านยูนิต โดยตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากผู้ซื้อมีความกล้าที่จะนำเงินมาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองเห็นโอกาสในยามที่ราคาบ้านตกต่ำลงต่ำกว่า 15.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- สหรัฐและญี่ปุ่นเตรียมขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกมติเพื่อปิดช่องทางการเงินของเกาหลีเหนือในต่างประเทศ และสั่งห้ามเกาหลีเหนือขายอาวุธเพื่อระดมเงิน ซึ่งข้อเสนอให้มีการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือดังกล่าวได้ถูกนำมาหารือโดยตัวแทนของสหรัฐ ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเกาหลีใต้ คาดว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการร่างมติดังกล่าว
- มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ ครองตำแหน่งบริษัทปล่อยกู้รายใหญ่สุดของโลกในอุตสาหกรรมชิปปิ้งในไตรมาสแรก แซงหน้าเจ้าของตำแหน่งเดิมอย่างบริษัท DnB NOR ASA ของนอร์เวย์
- นายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ ของญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียกร้องสหรัฐอเมริกาให้ใส่ชื่อเกาหลีเหนือกลับไปในรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายอีกครั้ง หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ทำการทดลองนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
- รัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้น ได้เรียกเงินสำหรับการซื้อกิจการโอเปิล ซึ่งเป็นธุรกิจของจีเอ็ม เพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านยูโร (415 ล้านดอลลาร์) ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้การเจรจากับบริษัทที่สนใจซื้อโอเปิลอย่าง เฟียต และ แมกน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องหยุดชะงักลง
- รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำโดยนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ ได้ออกมาปกป้องแผนการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ผู้เสียชีวิตเกือบ 16,000 ราย หลังจากที่ฝ่ายค้านออกมาวิจารณ์ว่าการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายขาดการไตร่ตรอง
- รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มองว่า หากบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ล้มละลาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทญี่ปุ่นนั้น คงจะเป็นผลกระทบแค่ในวงจำกัดเท่านั้น ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถของสหรัฐและประเทศอื่นๆได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากกว่า หากมีการเปิดเผยแผนการปรับโครงสร้าง โอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อบริษัทเอกชนญี่ปุ่นคงจะอยู่ในขอบเขตที่กระทรวงได้คาดการณ์ไว้
- บริษัทรถชั้นนำของญี่ปุ่น 5 ราย ได้แก่ โตโยต้า มอเตอร์ นิสสัน มอเตอร์ ฮอนด้า มอเตอร์ มาสด้า มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ลดการผลิตทั่วโลกลงอย่างหนักเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยลดการผลิตลงไปถึง 29.7 - 54.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี