ราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินฝืด
สำนักงานสถิติแห่งชาติของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งไม่รวมอาหารสดปรับตัวลดลง 0.1% จากปีก่อนน้านี้ ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงเท่ากับเมื่อเดือนมี.ค. และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์จากโพลล์ของบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้
นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า การร่วงลงของราคาสินค้าจะมาเร็วขึ้นในช่วงกลางปีงบประมาณนี้ที่สิ้นสุด ณ เดือนมี.ค.2553 เนื่องจากอุปสงค์ยังตกต่ำและราคาน้ำมันยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ค้าปลีกหลายรายต่างใช้กลยุทธ์หั่นราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าให้จับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
ฮิโรอากิ มูโตะ นักวิเคราะห์จากซูมิโตโม มิตซุย แอสเซท เมเนทเม้นท์ ในโตเกียวกล่าวว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด หากราคาสินค้ายังคงลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง และยังเป็นการยากที่จะคาดเดาราคาผู้บริโภคว่าจะดีดตัวกลับขึ้นไปหรือไม่ แต่ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงเช่นนี้จะทำให้ธนาคารกลางหาทางออกจากการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรน"
ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจชะลอการใช้จ่ายหากเชื่อว่าราคาสินค้าจะถูกลงในอนาคต ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นตัวฉุดรั้งผลกำไรของบริษัทเอกชนและกดดันให้บริษัทต่างๆปรับลดค่าจ้าง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บีโอเจและรัฐบาลได้เพิ่มประมาณการเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2549 หลังเห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการส่งออกและการผลิตที่เริ่มมีเสถียรภาพ แต่ยังองค์ประกอบสองอย่างที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในแง่ของการใช้จ่ายผู้บริโภคและอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต