นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนนโยบายโครงการลงทุนสินค้าเกษตรแบบมีสัญญาในประเทศเพื่อนบ้าน(คอนแทรกฟาร์มมิ่ง)ในสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 47 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโควต้านำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเดิมที่กำหนดไว้ปริมาณ 4 แสนตัน/ปี
สาเหตุที่ต้องให้ทบทวนนั้น เนื่องจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโควต้าในโครงการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะยกเลิกโครงการดังกล่าว
"ที่ประชุมมองว่าสภาพการของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันทิศทางแตกต่างจากในอดีต จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปทบทวนว่าจำเป็นที่ให้โควต้านำเข้าอีกหรือไม่" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าการลงทุนของนักธุรกิจไทยที่เข้าไปปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านนั้น พบว่าไม่มากไปกว่าการให้เมล็ดพันธุ์กับเกษตรกรไปปลูก และพบว่ามีผลกระทบกับเกษตรในไทยมาก เพราะต้นทุนที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านต่ำกว่า ขณะที่เอกชนก็สั่งซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาต่ำกว่าในไทยได้
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการยกเลิกแนวทางการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อการส่งออกในสต๊อกของรัฐบาล 4.49 ล้านตัน หลังพบว่าเป็นราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ซึ่งเอกชน 2 รายได้ทำหนังสือแจ้งต่อองค์การคลังสินค้า(อ.ค.ส.) เพื่อขอคืนหลักประกันซอง และขอยกเลิกการต่อรองราคา รวมทั้งถอนตัวจากการประมูลไปแล้ว
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบและมีมติเกี่ยวกับแนวทางการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังค้างอยู่ในสต็อกรอบใหม่ โดยแนวทางใหม่นั้นจะต้องรอมติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบยุทธศาสตร์การะบายสินค้าเกษตรตามแนวทางของคณะกรรมการชุดที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มิ.ย.นี้
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความเห็นว่า ให้ฝ่ายเลขานุการ(กรมการค้าภายใน)กับผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการได้เลยตามมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเข้าประชุมเพิ่มเติมอีก ดังนั้นเมื่อมติคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าออกมาว่าอย่างไร อนุกรรมการตลาดที่รับผิดชอบระบายสินค้าเกษตรก็ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีได้เลย เช่น หากมติครม.ให้เปลี่ยนรูปแบบคณะทำงานใหม่ที่ให้เปลี่ยนประธานองค์การคลังสินค้า(อ.ค.ส.) มาเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) เป็นผู้รับผิดชอบระบายสินค้าเกษตรก็ใช้แนวทางนั้นเลย
ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐสามารถรับจำนำได้ ณ วันนี้มีจำนวน 1,017,426 ตัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่พร้อมจะระบายมีจำนวน 449,342 ตัน ขณะที่คาดว่าผลผลิตปี 52/53 จะอยู่ที่ 4.251 ล้านตัน และใช้ในประเทศประมาณ 4.276 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะมากเท่านี้หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจทรุดตัวไปมาก
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะต้องสร้างกลไกเพื่อให้เกิดความมั่นใจ 100% ว่าผู้ซื้อมีการส่งออกจริง พร้อมกันนี้ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาและให้ข้อมูลต้นทุนการเปลี่ยนแปลงระบบการรับประกันสินค้าว่าจะเป็นเช่นเดียวกับมันสำปะหลังหรือไม่ โดยเสนอกรอบใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันการรั่วไหลได้มากขึ้นแม้จะไม่ถึง 100% ก็ตาม เพราะคนที่เข้าโครงการจะต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการ