นักวิชาการมองเงินเฟ้อ พ.ค.ลดมากกว่าคาด เชื่อติดลบต่ออีก 2 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)พ.ค.52 ลดลงถึง 3.3% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าต่างปรับสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนักในระยะนี้ ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อจะยังติดลบต่อไปอีก 2 เดือนเพราะฐานปีก่อนค่อนข้างสูง ขณะที่ราคาสินค้าเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้นบ้างแล้ว

*ตัวเลข CPI เดือน พ.ค.ที่ออกมา ลดลงกว่าที่คาดการณ์จะมีผลอะไรบ้าง

"เราเคยคาดว่า ตัวเลข CPI พ.ค. น่าจะลดลงไม่มาก และถ้าเทียบ MoM อาจจะเป็นบวกได้ เพราะเราได้ประเมินว่าราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และยังมีผลจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต เหล้า บุหรี่อีก และ แต่ผลที่ออกมา YoY ลดลงมากกว่าที่คาด และ MoM ก็ยังติดลบอยู่ แต่ไม่น่ามีผลกระทบอะไรมาก แม้ตัวเลขจะออกมาสูงเกินคาด ส่วนหนึ่งก็อาจจะยังช่วยเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้ต่อไป"

*แนวโน้ม CPI จะเป็นอย่างไร

"มองแล้ว พ.ค.ที่ยังลดลง 3.3% ถ้าเทียบ YoY ก็น่าจะลดลงได้อีก 2 เดือน เพราะฐานปีที่แล้วอยู่สูง ก.ค.51 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมัน PEAK สุด แต่หลังจาก ก.ค.ปีนี้แล้ว คาดว่า CPI น่าจะค่อยๆ ลดการติดลบลง แต่ทั้งปีเรายังคาดการณ์ว่า CPI ยังอยู่ในกรอบที่ 0-1%"

*CPI ติดลบต่อเนื่อง จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่

"สถานการณ์ขณะนี้ ไม่มีใครพูดถึงภาวะเงินฝืดแล้ว เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ตอบสนองโดยอยู่ช่วงขาขึ้นแล้ว แม้เงินเฟ้อยังในระดับต่ำ ดังนั้น หากมองไปข้างหน้า แม้เงินเฟ้อยังจะติดลบอีก 2 เดือนข้างหน้าก็ตาม ก็ไม่มีได้กังวลเรื่องเงินฝืด"

*อยากเสนอเสนอแนะทางการอย่างไรบ้าง

"ตอนนี้หากคิดว่ามองไปข้างหน้า แนวโน้มเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ดังนั้นแนวนโยบายจะน่าเป็นไปอย่างระมัดระวัง เตรียมรับมือกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่จะปรับสูงขึ้น รัฐบาลก็ต้องเข้าไปดูเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน แต่เงินเฟ้อที่ยังไม่สูงมากอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินยังเอื้อต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่การดำเนินนโยบายการคลังยังจำเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางไม่แน่นอน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ