กสิกรฯ ระบุมาตรการลดค่าครองชีพกดเงินเฟ้อติดลบถึง ก.ค.แต่ทั้งปีโต 0-1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ(CPI) เดือน พ.ค.52 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3.3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์นั้นคงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในขณะนี้มากนัก เพราะปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมากเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงจากแรงกดดันของสภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาสินค้าลง

ถ้าพิจารณาถึงคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกดีดกลับมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าในตลาด NYMEX ปรับตัวสูงขึ้นมาประมาณ 60% นับจากมีสัญญาณเริ่มต้นของการปรับตัวดีขึ้นเศรษฐกิจโลกปรากฏให้เห็นตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบสูงนี้จะยังคงปรากฏให้เห็นต่อไปอีกในระยะ 2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงค่อนข้างมากในปีก่อน โดยราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไว้ในเดือน ก.ค.51 แต่หลังจากนั้นเมื่อผลของฐานเปรียบเทียบหมดไปแล้ว ถ้าหากเศรษฐกิจโลกยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นด้วยอัตราเร่งที่ค่อนข้างเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะยังไม่กลับไปถึงระดับที่เคยเป็นสถิติสูงสุดก็ตาม

"ทิศทางดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้มากว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)จะกลับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่า 3.5% ในช่วงปลายปี สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) คาดว่าอาจจะยังคงมีอัตราติดลบต่อไปอีกในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะกลับมาเป็นบวกในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนครึ่งแรกของปี 52 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจหดตัวลงประมาณ 1.5% ขณะที่ครึ่งหลังของปีน่าจะมีอัตราเฉลี่ยเป็นบวกมากกว่า 1.3% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 52 จะยังคงอยู่ภายในกรอบประมาณการระหว่าง 0.0-1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจาก 5.5% ในปี 51 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5-1.0% ลดลงจาก 2.4% ในปี 51

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้และแนวโน้มในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะยังคงมีอัตราติดลบสูง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มที่จะติดลบต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยับออกจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. แต่ทิศทางดังกล่าวคาดว่าจะเป็นภาวะชั่วคราว รวมทั้งเมื่อมองไปข้างหน้าแล้วมีความเป็นไปได้มากที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

อย่างไรก็ดี ด้วยมาตรการของรัฐบาลที่มีผลในการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงในระยะนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ยังคงไม่รุนแรง ซึ่งจะยังเป็นระดับที่เอื้ออำนวยให้ทางการสามารถรักษาแนวทางการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปได้ต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะ 6-9 เดือนข้างหน้า

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีโอกาสกลับมาสูงขึ้นนั้น ภาครัฐควรที่จะเตรียมมาตรการและแผนรับมือไว้ล่วงหน้า เช่น การรณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง การเตรียมแผนงานด้านพลังงานทดแทนอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งในด้านวัตถุดิบ ด้านการผลิต และด้านการตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องติดตามทิศทางราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อการวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากโอกาสที่ราคาปัจจัยการผลิตจะปรับสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ