สหภาพฯ ยื่นหนังสือถึง "อภิสิทธิ์"คัดค้านการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ราว 50 คน นำโดยนายภิญโญ เรือนเพชร รองประธาน สร.รนฟท.ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา เนื่องจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"แผนปฎิรูปไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพราะไม่ชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการขนส่งระบบรางตามรัฐธรรมนูญปี 50 อีกทั้งไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานระหว่าง รฟท.กับกลุ่มสหภาพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 50 ที่ระบุว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้องทำความตกลงกับสหภาพฯ ก่อนทุกกรณี"นายภิญโญ กล่าว

รองประธาน สร.รฟท. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูกที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่าง รฟท.และบริษัทใหม่ให้ขาดจากกันในอนาคตและมีผลกระทบต่อประเทศและประชาชน ซึ่ง สร.รฟท.เห็นว่าควรทบทวนแผนดำเนินงานให้ชัดเจนก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณา

"ที่ผ่านมา สร.รฟท.ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาลมาหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับ หากรัฐบาลชุดนี้จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของ รฟท. ควรรับข้อเสนอของ สร.รฟท.ไปพิจารณา"นายภิญโญ กล่าว

ข้อเสนอของ สร.รฟท.ได้แก่ การจัดสร้างรางคู่ทั่วประเทศ โดยปรับขนาดรางเป็นขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จัดหารถจักรรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าให้เพียงพอ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากการให้เช่าที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงให้รัฐบาลเบิกจ่ายเงินค่าบริการสังคมที่ให้ รฟท.เข้าไปมีส่วนรวมในโครงการต่างๆ ให้ตรงตามเวลา ซึ่งรัฐบาลค้างจ่ายมาตั้งแต่ปี 45 ถึงปัจจุบันเป็นเงินกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ให้พิจารณาแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ รฟท. โดยเสนอให้ รฟท.จัดตั้ง 2 บริษัทลูก คือ บริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งมี รฟท.ถือหุ้น 100% ภายใน 30 วันนับแต่ ครม.อนุมัติหลักการ

พร้อมทั้งให้คณะกรรมการ รฟท.กำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่เหมาะสม โดยแบ่งแยกภารกิจ สินทรัพย์ และหนี้สินระหว่าง รฟท.กับบริษัทลูกทั้งสองออกจากกัน รวมทั้งการถ่ายโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อให้สองบริษัทเริ่มดำเนินการได้ใน 180 วัน นับแต่ ครม.อนุมัติให้ภาครัฐรับภาระการลงทุนพื้นฐานในอนาคตของ รฟท.

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ รับผิดชอบเรื่องการรับภาระการลงทุน และให้ รฟท.เสนอกรอบอัตรากำลังที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนของ รฟท. งดรับตำแหน่งใหม่ ยกเว้นตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษแต่ต้องไม่เกิน 5% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่

ส่วนการพัฒนาและบริหารที่ดินนั้น รฟท.เห็นควรให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ทำหน้าที่จัดหาเอกชนมาดำเนินการโดยบริษัทขอทำหน้าที่บริหารสัญญาเช่าเท่านั้น ส่วนบริษัทเดินรถนั้นมีหน้าที่ให้บริการรถโดยสารและขนส่งสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ