นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยถึงโครงการเช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4 พันคัน เป็นเวลา 10 ปี ว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 600 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือน ก.ย.52 ภาระหนี้สินสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็น 67,325 ล้านบาท จากปัจจุบัน 59,509 ล้านบาท
"หากไม่หาแนวทางแก้ไขคาดว่าภาระหนี้สินสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาทในไม่กี่ปีข้างหน้า" นายปิยะพันธ์ กล่าว
ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้วิธีการเช่ารถมาให้บริการเพราะมีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาล อีกทั้งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันรัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้ ขสมก.ได้ โดยแนวทางการเช่ารถโดยสารจะส่งผลให้ ขสมก.มีรถโดยสารปรับอากาศมาให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องชำระเงินให้เอกชนก่อน และยังไม่ต้องชำระเงินในคราวเดียวหลังส่งมอบรถโดยสาร แต่สามารถชำระค่าเช่าเป็นรายวันตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ
"เหตุใดกระทรวงการคลังจึงเลิกจัดซื้อรถประจำตำแหน่งและรถส่วนกลาง แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการเช่าทั้งหมด ถ้าดีจริงทำไมไม่ใช้วิธีซื้อต่อไป รูปแบบที่ ขสมก.เสนอคือการนำเงินในอนาคตมาจ่าย โดยไม่ต้องเสียงบประมาณแม้แต่บาทเดียว แต่เมื่อเอกชนนำเงินมาลงทุนไปก่อน จำเป็นต้องมีดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการ" นายปิยะพันธ์ กล่าว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคารถโดยสารในโครงการนี้กำหนดไว้ในราคาคันละ 5 ล้านบาทนั้นเป็นราคาที่สูงเกินไป นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ในช่วงปี 49 ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ราคารถโดยสารอยู่ที่คันละ 8 ล้านบาท ต่อมาในช่วง พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ราคาปรับลดเหลือคันละ 7 ล้านบาท แต่ในช่วงที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ปรับลดเหลือคันละ 6 ล้านบาท และล่าสุดในยุคของนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมคนปัจจุบัน ราคารถโดยสารลดลงเหลือคันละ 5 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้ดำเนินโครงการรถบีอาร์ที ซึ่งใช้รถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี 45 คัน ในวงเงิน 387 ล้านบาท และราคารถโดยสารในโครงการนี้คือคันละ 7 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 3 ปี คิดเป็นเงินคันละ 1.6 ล้านบาท โดย กทม.ได้ทำสัญญาว่าจ้างและจ่ายเงินค่ารถพร้อมค่าซ่อมบำรุงทั้งหมดให้เอกชนเรียบร้อยแล้ว และโครงการรถบีอาร์ทียังมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสถานีอีก 2,700 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้รับการอนุมัติเส้นทางในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้