IATA คาดธุรกิจสายการบินปีนี้ขาดทุนหนักกว่าคาดการณ์เหตุดีมานด์หดตัวต่อเนื่อง

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 4, 2009 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่า ธุรกิจสายการบินทั่วโลกปีนี้ จะขาดทุนมากกว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ตามที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้ความต้องการในการเดินทางและการใช้บริการในชั้นธุรกิจหดตัวลง พร้อมกับย้ำว่าธุรกิจสายการบินจะไม่ฟื้นตัวขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2554

ทั้งนี้ IATA มีกำหนดการเปิดเผยคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจสายการบินปี 2552 ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้

โจวานนี บิซิญานี ซีอีโอของ IATA กล่าวว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจะมีมุมมองที่เป็นบวกในตลาดเงินก็ตาม อุตสาหกรรมการบินจะยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากต่อไป และการเดินทางในชั้นพรีเมียมจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ที่ผ่านมา สายการบินต่างๆได้ลดเส้นทางบิน รวมทั้งลดจำนวนเครื่องบินลง เพื่อเอาตัวรอดในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้บริติช แอร์เวย์ส คาเธย์ แปซิฟิค และเจแปน แอร์ไลน์ส ต้องขาดทุนมาแล้ว ขณะที่ความต้องการในการขนส่งสินค้าก็ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งดีมานด์ในการขนส่งสินค้านั้น นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณในการวัดผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

บลูมเบิร์กรายงานว่า สมาชิกของ IATA จำนวน 230 ราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 93% ของปริมาณการเดินทางระหว่างประเทศ

ซีอีโอของ IATA กล่าวต่อไปว่า เป็นเรื่องยากที่ภาคอุตสาหกรรมสายการบินจะสามารถทำกำไรได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

IATA ระบุเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ปริมาณการเดินทางทั่วโลกชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเมื่อเดือนเม.ย. ขณะที่ตลาดในยุโรปและอเมริกาเหนือที่อ่อนตัวลงนั้นได้ผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว โชคดีที่เดือนเม.ย. สายการบินได้รับปัจจัยหนุนจากการออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่ตรงกับช่วงเดือนมี.ค.และติดพันมาจนถึงเดือนเม.ย. ขณะที่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเม.ย.นั้น ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นต่อตัวเลขการเดินทางในเดือนเม.ย.

IATA ระบุในรายงานเมื่อเดือนพ.ค.ว่า ปริมาณการบินของสายการบินในเอเชียแปซิฟิคนั้นจะยังคงถดถอยต่อไป โดยปริมารการบินหดตัวลง 8.6% ขณะที่ดีมานด์ในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 11% ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยปริมาณการขนส่งตกลงไปเกือบ 22%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ