นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด) จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อขอหารือในประเด็นที่ยังมีข้อติดขัดเรื่องการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด ที่จำเป็นต้องชะลอไปก่อนจนกว่ามีการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50
มาตราดังกล่าว ระบุว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1.ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพของประชาชน(HIA)ในชุมชน 2.จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ 3.ให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ประเด็นที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเรื่องเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าเพื่อขอมติจาก ครม.ให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาแนวทางปฏิบัติกรณีที่องค์ประกอบตามกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญยังจัดตั้งไม่แล้วเสร็จว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างในระหว่างนี้ เพราะหากชะลอโครงการลงทุนจากเหตุที่ต้องรอการจัดตั้งองค์กรอิสระดังกล่าวอาจจะกลายเป็นปัญหาได้
"กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นห่วงการดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญอาจกระทบการลงทุนโครงการใหญ่ ทำให้การลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาทชะงัก เพราะมาตรา 67 กำหนดขั้นตอนการลงทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชน จะต้องมีกฎหมายลูกประกาศประเภทการลงทุนและตั้งองค์กรอิสระให้ความเห็นก่อนอนุญาตลงทุน ซึ่งจะสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติผลศึกษาสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว จะสามารถดำเนินการต่อไปหรือไม่"นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ได้ดูมาตรา 67 แล้วพบว่าองค์ประกอบยังไม่สมบูรณ์และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาจัดทำหลายปี เนื่องจากคณะกรรมการอิสระฯ ยังไม่มีกฎหมายรองรับจึงต้องไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะมีความชัดเจนในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) ในรูปแบบใด ซึ่งภาคเอกชนที่ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เสร็จแล้ว ก็สามารถที่จะทำ HIA ได้หากผลจากคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาว่าทำได้ โดยเฉพาะเรื่องการสอบถามข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เชื่อว่าภายใน 1 เดือนจะมีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมที่ผ่าน EIA แล้วจะสามารถลงทุนต่อได้รูปแบบใด ขณะที่จะดูในส่วนของอุตสาหกรรมเก่าว่าจะไปครอบคลุมในส่วนใดบ้าง และอาจจะมีการแก้ไขระเบียบในอุตสาหกรรมเก่าด้วย
"ภาคเอกชนกังวลอย่างมาก เพราะลักษณะนี้บางส่วนเขาทำ EIA เสร็จแล้ว แต่ทุกอย่างกลับถูกระงับไปหมด ซึ่งส่วนที่สำคัญในประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมนี้ จะนำเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน เพื่อขอให้ทบทวนโดยเร็ว เนื่องจากข้อเท็จจริงมันไม่ใช่เพราะอุตสาหกรรมที่ต้องทำ EIA ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญด้วย เชื่อว่าหากดำเนินการเสร็จก็จะหายกังขา และกฎหมายก็ไม่ย้อนหลัง" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว